จับตาจีนบนหนทางสู่...Soft Landing

จับตาจีนบนหนทางสู่...Soft Landing

เปิดปี 2019 พร้อมกับตลาดที่ยังคงผันผวนสูง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดูซบเซา เห็นได้จากตัวเลขที่อ่อนแรง

โดยเฉพาะจีนที่ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ หรือ PMI (Purchasing Managers' Index) ภาคการผลิตเดือนธันวาคมส่งสัญญาณหดตัวทั้งจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่ 49.7 และรายงานของมาร์กิตที่ทำร่วมกับไฉซินที่ 49.4 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์การขยายตัวที่ 50 นอกจากนี้ คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ของจีนยังหดตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

เหตุผลหลักยังคงอยู่กับข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ เห็นได้ชัดเจนจากผลกระทบต่อภาคการผลิต เมื่อสินค้าส่งออกจีนถูกกดดันจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ รวมถึงยังส่งผลให้ PMI ภาคการผลิตในประเทศเอเชียซึ่งมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอ่อนลงเช่นกัน โดยเฉพาะไต้หวัน มาเลเชีย และเกาหลีใต้ ด้านตลาดหุ้นจีน แรงถูกกดดันยังคงต่อเนื่อง หลังจากปรับตัวลงแรงไปแล้วในปี 2018

โดยดัชนี Shanghai Composite และ HSCEI ปรับตัวลง 25% และ 15% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณารายกลุ่มธุรกิจภายใต้ดัชนี CSI 300 ซึ่งรวบรวมหุ้นจีนขนาดใหญ่ทั้งตลาดเซียงไฮ้และเซินเจิ้น 300 ตัว จะพบว่ากลุ่มธุรกิจสื่อสาร เทคโนโลยี และวัสดุ มีผลตอบแทนที่แย่ที่สุดที่ -38.0% -37.8% และ -36.7% ตามลำดับ และหากดูลึกลงไปถึงบริษัทจดทะเบียนจีนที่มีรายได้จากสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด จะพบว่ามี 18 บริษัท ซึ่งในปี 2018 ราคาหุ้นปรับตัวลงโดยเฉลี่ยถึง 40% เลยทีเดียว

สิ่งที่จีนต้องเร่งจัดการเพื่อก้าวผ่านหนทางข้างหน้า คือ

1.นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อบรรเทาโอกาสการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากประเด็นการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งนี้ จีนได้พลิกนโยบายครั้งใหญ่ในช่วงกลางปี 2018 โดยเริ่มจากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยเลื่อนความพยายามที่จะลดระดับหนี้ภายในประเทศออกไปก่อน และหันกลับมาเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ผ่านการลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio หรือ RRR) ถึง 3 ครั้ง รวมถึงมาตรการใหม่ในการเพิ่มสภาพคล่องในระยะปานกลางเป้าหมาย (Targeted Medium-Term Facility หรือ TMLF) เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก

อย่างไรก็ดี นโยบายที่บังคับใช้นั้นต้องใช้เวลานาน และยังไม่เห็นผลไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน รัฐบาลจีนจำเป็นต้องนำนโยบายการคลังเข้ามาช่วยมากขึ้น เพราะมีประสิทธิภาพสูงกว่าในระยะสั้น โดยในช่วงปลายปี มีการประกาศมาตรการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับรายจ่ายด้านสุขภาพ และการเช่าหรือซื้อบ้าน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2019 ทั้งนี้ จีนน่าจะยังเดินหน้าลดภาษีครั้งใหญ่ต่อในปีนี้ ทั้งภาษีนิติบุคคลเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงภาษีการขาย และภาษีนำเข้าเพื่อลดภาระราคาสินค้าที่แพงขึ้น

2.ข้อตกลงทางการค้าที่ยั่งยืนกับสหรัฐฯ แม้ว่าสิ่งที่สหรัฐฯ เรียกร้องจากจีนเพื่อยุติการโจมตีทางการค้า 90 วัน ในวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมาจะดูยากที่จีนจะสามารถตอบสนองได้ทั้งหมด และมีโอกาสที่การเจรจาจะยืดเยื้อนานกว่ากรอบ 90 วัน แต่ปฏิกิริยาของตลาดทุนที่ผันผวนสูง น่าจะทำให้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนโลก รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองที่เริ่มชะลอตัวลงเช่นกัน โดยในวันที่ 7 มกราคม นี้ คณะผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่จีน นอกจากนี้ ปธน. ทรัมป์ ยังได้ทวิตข้อความระบุว่าการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างตนเองและ ปธน.สี จิ้นผิง มีความคืบหน้าดีมาก

ภารกิจที่รัฐบาลจีนต้องให้ความสำคัญคือ การบริหารจัดการให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ในวิสัยที่ตลาดการเงินโลกรับได้ ไม่สร้างเซอร์ไพร์สให้นักลงทุนตื่นตกใจ หรือ Soft Landing นั่นเอง ซึ่งถ้อยแถลงของ ปธน.สี จิ้นผิงได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากเป้าหมายในการขยายเศรษฐกิจจีนให้ได้หนึ่งเท่าตัวภายในปี 2021 มาเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมี “คุณภาพ” และมี “ประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ดี การเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ในข้อพิพาททางการค้า มีรายละเอียดมาก และบางส่วนยากหรือไม่สามารถปฏิบัติได้ในทันที ดังนั้น ความผันผวนในตลาดทุนโลก รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อมรับมือเช่นกัน