สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่***

สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่***

นับเป็นข่าวดีรับปีใหม่ของพวกเรา ซึ่งเป็นลูกจ้างโดยในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ..... ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยกฎหมายใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องขอขอบคุณองค์กรแรงงานและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเรื่อยมาเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองลูกจ้างให้สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของกลุ่มบุคคลผู้ใช้แรงงานและเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกจ้าง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ฉบับใหม่นี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ประเด็นโดยมีประเด็นหลักสำคัญที่ถูกแก้ไขดังนี้

1.เพิ่มอัตราค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่นายจ้างให้ออกจากงานโดยไม่มีความผิดสำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับปัจจุบันกำหนดอัตราค่าชดเชยสูงสุดที่ลูกจ้างจะได้รับตามกฎหมายคือ ค่าชดเชยไม่เกินอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ในกฎหมายใหม่ได้มีการเพิ่มอัตราค่าชดเชยให้ลูกจ้างซึ่งทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปหากถูกเลิกจ้างให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าชดเชยนี้ในมุมมองของนายจ้างอาจคิดว่าเป็นการสร้างภาระและมีต้นทุนในการจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเพิ่มขึ้น แต่หากมองในอีกมุมหนึ่งน่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานกับนายจ้างได้ยาวนานขึ้นและถือเป็นการที่นายจ้างตอบแทนลูกจ้างสำหรับการทำงานอย่างซื่อสัตย์ของลูกจ้างและสร้างผลผลิตให้กับนายจ้างมายาวนานต่อเนื่องถึง 20 ปี ซึ่งคงมีจำนวนลูกจ้างไม่มากนักที่จะทำงานกับนายจ้างรายใดรายหนึ่งนานถึง 20 ปี

2.การให้ความคุ้มครองลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ ให้มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ก่อนคลอดบุตรโดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อตรวจครรภ์ให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานด้วย ถือเป็นการให้ความคุ้มครองสุขภาพทั้งมารดาและทารกในครรภ์อีกทางหนึ่ง

3.การให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานโดยให้ได้รับค่าจ้างในวันลาดังกล่าวเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่มิได้มีการกำหนดนิยามศัพท์ “การลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น” ไว้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคงต้องการเปิดให้ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าการใดที่จะถือว่าเป็น ”กิจธุระอันจำเป็น” ดังนั้น หากกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับแล้วนายจ้างและลูกจ้างคงต้องทำความตกลงกันเพื่อกำหนดแนวทางการใช้สิทธิลาของลูกจ้างให้ชัดเจนต่อไป หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอาจต้องจัดทำคำชี้แจงเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของลูกจ้างและนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิในการลาของลูกจ้างต่อไป

4.กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างกรณีบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกจ้างมีผล โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

5.กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนโดยกำหนดบทบัญญัติหน้าที่ของนายจ้างให้ชัดเจนขึ้น นายจ้างจะไม่สามารถโอนลูกจ้างให้ไปทำงานกับบริษัทอื่นโดยอำเภอใจของนายจ้างแต่ฝ่ายเดียวได้ โดยมีการแก้ไขมาตรา 13 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานเป็นดังนี้ “ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างหรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ”

6.กำหนดให้นายจ้างซึ่งประสงค์จะย้ายสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแห่งใดไปตั้ง ณ สถานที่ใหม่หรือย้ายไปยังสถานที่อื่นของนายจ้างนายจ้างจะต้องปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจนไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้นายจ้างต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาและข้อมูลที่จะพิจารณาตัดสินใจว่าการถูกย้ายไปทำงาน ณ สถานที่แห่งใหม่นั้นมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างคนนั้นหรือไม่ และลูกจ้างประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ของนายจ้างหรือไม่ ซึ่งหากลูกจ้างเห็นว่าการย้ายสถานประกอบการของนายจ้างไปที่ใหม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัวของลูกจ้างและไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบการแห่งใหม่ของนายจ้าง ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิในการแจ้งนายจ้างเพื่อขอเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้างได้โดยลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษจากนายจ้าง

นายจ้างคงต้องเตรียมการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัทตนต่อไป ขอให้ลูกจ้างและนายจ้างทุกท่านมีความสุขในปีใหม่นี้คะ

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ ]

โดย... 

สมพร มโนดำรงธรรม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected] 

 

***  ชื่อเต็ม: สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

(Amended Labour Protection Act: What are new benefits for employees)