ปีใหม่นี้ลองใช้ยุทธการ เก็บบริการรายเดือน

ปีใหม่นี้ลองใช้ยุทธการ เก็บบริการรายเดือน

บริการแบบ “Subscription Based” ที่เป็นการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปีนับเป็นบริการที่ผู้คนคุ้นชินมานาน

เช่น บริการจากโอเปอร์เรเตอร์มือถือ บริการออนไลน์มิวสิคหรือสตรีมมิ่งวิดีโอ โดยปัจจุบันกลุ่มดิจิทัลได้เปิดบริการในลักษณะ “Platform as a Service” (PaaS) ซึ่งเป็นการให้บริการแบบจ่ายตามการใช้งานจริง (Actual Usage) โดยลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการที่ต้องการผ่านแพลตฟอร์มอย่างสะดวกรวดเร็ว อาทิ บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง หรือบริการเว็บโฮสติ้ง ซึ่งนับวันบริการในลักษณะนี้ได้กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญให้กับค่ายดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นแอปเปิล อเมซอน หรือไมโครซอฟท์ไปแล้ว

เก็บน้อยแต่เก็บนาน

อเมซอนเปิดบริการสมาชิก “อเมซอน ไพร์ม (Amazon Prime)” ในอัตรา 119 ดอลลาร์ต่อปีเพื่อให้สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ การส่งสินค้าฟรีในเวลา 2 วัน การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งที่มีภาพยนตร์และรายการทีวีกว่า 10,000 เรื่อง และให้บริการฟังดนตรีกว่าสองล้านเพลงแบบไม่จำกัด คาดว่าอเมซอนมีสมาชิกไพร์มกว่า 100 ล้านรายทั่วโลกและสร้างรายได้กว่า 11,900 ล้านดอลลาร์ต่อปี

นอกจากนี้อเมซอนยังมีบริการคลาวด์แพลตฟอร์ม “Amazon Web Services (AWS)” ที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริงทุกเดือน จนทำรายได้กว่า 6,680 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สามของปี 2018 และเป็นผลประกอบการที่แข็งแกร่งของอเมซอนจนคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์และกูเกิลต่างร่วมเข้าชิงส่วนแบ่งเช่นกัน

สำหรับไมโครซอฟท์ซึ่งผันกลยุทธ์การขาย Office 365 เป็นลักษณะ Subscription Based รายปีมีสมาชิกถึง 29 ล้านรายและบริการ “Azure” คลาวด์แพลตฟอร์มที่แสดงแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง จนไมโครซอฟท์สามารถแซงขึ้นหน้าแอปเปิลและอเมซอนในช่วงเวลาสั้นๆ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) บริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอรายใหญ่นับเป็นต้นแบบการสร้างรายได้จาก Subscription Based รายสำคัญ โดยคิดค่าสมาชิกรายเดือนสำหรับแพคเกจพื้นฐานในไทยที่ 280 บาท และมีสมาชิกกว่า 137 ล้านรายทั่วโลก ทำรายได้ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สามของปี 2018 ด้วยสมาชิกจำนวนมากมายเน็ตฟลิกซ์ได้เร่งลงทุนสร้างคอนเทนท์ของตนเอง (Original Content) ด้วยเงินลงทุนที่สูงกว่าค่ายภาพยนต์อื่น เฉพาะในปี 2018 คาดว่าเน็ตฟลิกซ์ได้ลงทุนสร้างคอนเทนท์ไปแล้วกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ จนอาจดีสลัพค่ายภาพยนต์และโรงภาพยนต์ในเวลาอันใกล้

 

อีโคซิสเต็มดีย่อมมีชัย

เจ้าตำรับอีโคซิสเต็ม (Ecosystem) ที่เป็นที่รู้จักดีถึงความสำเร็จคงไม่พ้นแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกทะลุล้านล้านดอลลาร์อย่างแอปเปิล ที่นอกจากการนำเอา iPhone มาเปลี่ยนชีวิตประจำวันของผู้คนไปจนไม่มีวันเหมือนเดิมแล้ว ยังได้วางระบบอีโคซิสเต็มที่สามารถสร้างรายได้ต่อยอดจากอุปกรณ์สมาร์ททั้งหลายที่สร้างขึ้นทั้ง iPod, iPad, AppleTV, iWatch และ Homepod ด้วยระบบอีคอมเมิร์ซที่เรียบง่ายอย่างไอทูนส์สโตร์ (iTunes) ที่จำหน่ายเพลงกว่า 50 ล้านเพลง และภาพยนต์กว่า 100,000 เรื่อง รวมถึงแอพและโมบายเกมส์ชื่อดังจาก App Store ที่มีจำนวนเกือบ 2 ล้านแอพ และสโตเรจสำหรับเก็บข้อมูลอย่าง iCloud ที่ต่างสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์บริการเหล่านี้สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 9,981 ล้านดอลลาร์จากยอดขายรวมกว่า 62,900 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 นับเป็นธุรกิจที่เติบโตและสร้างรายได้ต่อเนื่องทุกเดือน

การที่ธุรกิจสามารถสร้างอีโคซิสเต็มหรือแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผลิตภัณฑ์หลักให้ขยายต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่น อย่างเช่น iPhone และ iTunes ตลอดจนต่อยอดไปยังคู่ค้าในอุตสาหกรรมข้างเคียงอย่างดนตรี ภาพยนต์หรือเกมส์ จนสามารถจำหน่ายสินค้าและบริการได้ต่อเนื่องทุกเดือน ทำให้เป็นการดิสลัพของดิจิทัลไปยังอุตสาหกรรมหลายแขนง เนื่องจากแบรนด์มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจำนวนมากที่สามารถนำไปขยายธุรกิจต่อเนื่องได้ จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์รุกเข้ายังสนามแข่งขันใหม่และลบเส้นแบ่งทางธุรกิจให้จางหายไป

 

คิดแบบเก็บเงินรายเดือน

ธุรกิจ Subscription Based คงไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงดิจิทัล สิ่งพิมพ์หรือบริการ แต่กำลังเปิดตัวให้เห็นมากขึ้น อาทิ เครื่องพรินเตอร์ที่ตัวเครื่องกลับเป็นปัจจัยรองแต่หมึกที่ใช้กลายเป็นรายได้หลัก หรือกาแฟที่ทำให้เครื่องต้มกาแฟกลายเป็นแฟชั่นแต่แคปซูลกาแฟเป็นรายได้หลัก

การขยายการธุรกิจโดยอาศัยอีโคซิสเต็มของธุรกิจหลักในลักษณะ Subscription Based นับเป็นกลยุทธ์ที่อาจต้องนำมาใช้หรือควรทดลอง โดยเฉพาะเมื่อดิจิทัลแพลตฟอร์มสามารถถูกนำมาใช้เป็นกลไกการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าในมือที่เชื่อมั่นในบริการและคุณภาพของทีมงานย่อมเป็นโอกาสในขยายกลยุทธ์การแข่งขันที่ไร้เส้นแบ่งเขตไปแล้ว