กระจกแตก แปลกตรงไหน

กระจกแตก แปลกตรงไหน

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารถยนต์สองคัน ไม่มีป้ายทะเบียน ไม่มีใครดูแล ถูกนำไปจอดทิ้งไว้ริมถนน แถมเปิดฝากระโปรงค้างไว้ด้วย

คันหนึ่งจอดที่บร๊องซ์ ย่านเสื่อมโทรมของนครนิวยอร์ค อีกคันจอดที่เมืองพาโล อัลโต ใกล้มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เมืองซึ่งมีสภาพแวดล้อมดี

คุณคงเดาไม่ผิดหรอกครับ เพียง 10 นาทีเท่านั้นเอง รถที่บร๊องซ์ก็ถูกทุบกระจก ทุบตัวถัง เบาะรถถูกฉีกขาด ชิ้นส่วนในรถที่สามารถงัดแงะได้ ถูกงัดออกไปขาย แต่รถที่พาโล อัลโต กลับไม่มีริ้วรอยเสียหายใดๆ แม้จะจอดทิ้งไว้ริมถนน นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ก็ตาม

ฟิลลิป ซิมบาโด้ นักวิจัยผู้ทำการทดลองเรื่องนี้ มิได้จบเพียงแค่นี้ครับ หลังจากนั้น เขาแอบทุบรถซึ่งจอดที่พาโล อัลโต ให้ตัวถังบุบ กระจกแตก แล้วรอดูว่าจะเป็นเช่นใด ปรากฎว่าหลังจากนั้นเพียง 2-3 ชั่วโมง ก็มีคนมาร่วมทุบทำลาย และพลิกรถหงายท้อง รถถูกรุมโทรมคล้ายๆกับที่บร๊องซ์ นั่นเลย

ซิมบาโด้ สรุปการทดลองครั้งนั้นว่า ถ้าเราละเลย ปล่อยให้ทรัพย์สินอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม มันก็จะกลายเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนเข้ามา “ร่วมวง” ทำลายให้เสื่อมโทรมมากยิ่งขึ้น

ที่น่าสนใจก็คือ อีก 13 ปีต่อมา ในปี 1982 นักวิชาการ 2 คนชื่อ Wilson and Kelling ได้ต่อยอดการทดลองของ ซิมบาโด้ ในบทความชื่อ Broken Windows” ทั้งสองคนระบุว่า การที่มีคนเข้ามาร่วมวง ทำลายทรัพย์สินที่เสียหาย ให้เสียหายหนักยิ่งขึ้นนั้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนด “นโยบายสาธารณะ” ได้

Wilson and Kelling บอกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจัดสรรกำลังพล เพื่อมุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรมใหญ่ๆ แต่จริงๆแล้วควรจัดกำลังพลไปแก้ปัญหาการทำผิดเล็กน้อย “ริมถนน” จะดีกว่า คืออย่าปล่อยให้ กระจกหน้าต่างแตก ต้องรีบไปซ่อมให้เรียบร้อย ก่อนที่มันจะ “เชิญแขก” เข้ามารุมสกรัมเพิ่มขึ้น เหมือนรถยนต์สองคันนั้น

ทฤษฎีกระจกหน้าต่างแตก” (Broken Windows Theory) ผมขอเรียกสั้นๆว่า “กระจกแตก” ก็แล้วกัน บอกว่าถ้าเราปล่อยให้กระจกบานหนึ่งแตก แล้วทิ้งไว้เช่นนั้น คนก็จะมองว่าบ้านหรืออาคารนั้น ไม่มีเจ้าของดูแล แล้วจะเริ่มทุบทำลายกระจกบานอื่นๆ หรือระรานเข้าไปใช้ประโยชน์ในบ้านหรืออาคารนั้น หรือทำให้เสียหายหนักยิ่งขึ้น

ที่ว่า “กระจกแตก แปลกตรงไหน” ก็ตรงนี้แหละครับ

เพราะถ้าเราปล่อยให้คนบนท้องถนน ขาดระเบียบวินัย ไม่เคารพกฎหมาย ทำความผิดได้เรื่อยๆ เช่นปัสสาวะริมถนน ทุบทำลายทรัพย์สินสาธารณะ พ่นสีเลอะเทอะบนผนังกำแพง บังคับเช็ดกระจกรถยนต์ ฯลฯ สภาพเลวร้ายแบบนี้ ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าเรารีบ “ซ่อมกระจก” ให้เรียบร้อย ด้วยการสกัดความผิดบนท้องถนน มิให้เกิดขึ้น การทำผิดเช่นนี้ในสังคมก็จะลดลง และอาจจะมีผลให้อาชญากรรมใหญ่ๆ ลดลงด้วย

ต่อมาทั้ง Wilson and Kelling มีโอกาสเดินลงจากหอคอยงาช้าง เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของตน เพราะในปี 1990 W.J. Bratton ผู้บัญชาการตำรวจนครนิวยอร์ค ผู้ที่ชื่นชอบทฤษฎีกระจกแตกเป็นอย่างยิ่ง ได้สั่งตำรวจให้จับและปรับทันที เมื่อเห็นผู้ทำผิดบนท้องถนน ใครทำลายทรัพย์สินสาธารณะ พ่นสีบนผนัง ปัสสาวะริมถนน ฯลฯ ตำรวจนอกเครื่องแบบของ Bratton จับและปรับแบบไม่ยั้ง

3ปีต่อมา นาย รูดี้ กุยลิอานี่ ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์คเขาได้นำทฤษฎีกระจกแตกไปลองทำต่อ เพื่อดูว่าจะแก้ปัญหาอาชญากรรมของนิวยอร์ค เมืองที่สกปรกและมีอาชญากรรมมากมาย ได้หรือไม่

ปรากฎว่าไม่นานนัก อะไรๆก็ดีขึ้น พฤติกรรมบางอย่างแม้จะหลุดตาไปบ้าง ก็ถูกแก้ไขโดยเร็ว เช่นมีคนพ่นสีบนฝาผนัง เพียงครู่เดียวก็จะมีเจ้าหน้าที่มาพ่นสีทับ เจ้าคนมือบอนเสียแรงพ่นเปล่าๆ เพราะเดี๋ยวเดียวเท่านั้น งานสีที่พ่นไว้ ก็ถูกพ่นทับให้ดีเหมือนเดิม อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อความผิดเล็กน้อยๆเริ่มลดลง ความเป็นระเบียบและความสะอาดก็ตามมา คนร้ายเกรงกลัวเจ้าหน้าที่มากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นดีเกินคาดคิด สถิติอาชญากรรมลดลงอย่างมาก นิวยอร์ค ติดอันดับสิบเมืองที่ปลอดภัยที่สุดในโลก ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แม้จะมีผู้วิจารณ์ว่า มันคงไม่ใช่เพราะทฤษฎีกระจกแตก เพียงอย่างเดียว น่าจะมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆด้วย แต่ทฤษฎีนี้ก็ได้รับเครดิตอย่างมาก นิวยอร์คกลายเป็นกรณีศึกษาที่กล่าวขวัญถึง จนทุกวันนี้

เมื่อใช้กับนครนิวยอร์คอย่างได้ผล ทฤษฏีกระจกแตก ก็ได้รับความนิยมนำไปใช้อีกหลายเมือง เช่นเมือง AlbaquerqueรัฐNew Mexico และเมืองLowellรัฐMinnesota รวมทั้งประยุกต์ใช้ในหลายวงการ เช่นวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ช่วยเพิ่มคุณค่าและราคาอสังหาริมทรัพย์ หรือในวงการศึกษา เพื่อสร้างระเบียบวินัยในโรงเรียน เป็นต้น

วันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป ที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆของไทย จะนำ ทฤษฎีกระจกแตก มาเรียกคืนความเป็นระเบียบเรียบร้อย บนท้องถนนกลับคืนมา และลดระดับอาชญากรรมลงไปได้อีกด้วย แต่ต้องทำอย่างจริงจังและตั้งใจ ไม่ใช่แบบไฟใหม้ฟาง เหมือนที่เราทำๆกันมา

ประเทศไทยยังมี “กระจกแตก” ให้เห็นรกหูรกตาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นใน กรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งตรอก ซอก ซอย คู คลอง อาคาร ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องออกไปดูแลกระจกเหล่านี้ ให้เรียบร้อย

ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ออกไป “ซ่อมกระจก” ในสังคม ก็มีอีกทางหนึ่งคือหยิบ “กระจก” จริงๆมาส่อง แล้วถามว่าคนในกระจก ยังสมควรรับเงินเดือน จากภาษีของประชาชนต่อไปหรือไม่

ส่วนในทางการเมือง ซึ่งก็ดูดกันไปมาจนครบถ้วนแล้ว และออกศึกกันอยู่ในขณะนี้ ทฤษฎีกระจกแตก ก็่น่าจะประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เพราะพรรคที่ดูดคนไป หวังให้ไปช่วยจัดตั้งรัฐบาล แต่ประชาชนเขากลับมองว่า นักการเมืองที่ท่านดูดไปนั้น บางคนก็เปรียบเสมือน “กระจกแตก” นั่นแหละ

เมื่อดูดกระจกแตกไปประดับพรรค คงเดาได้นะครับว่า อีกสักพัก...จะเป็นเช่นใด