เอสเอ็มอียังไม่พร้อมเป็นองค์กรดิจิทัล

เอสเอ็มอียังไม่พร้อมเป็นองค์กรดิจิทัล

ปี 2562 ที่เคยคาดกันว่าเศรษฐกิจโลกจะกระเตื้อง เศรษฐกิจไทยจะสดใส มาถึงตอนนี้เริ่มมีสัญญาณออกมาแล้วว่า ความคาดหวังอาจไม่เป็นจริง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ เอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจซึ่งจะเข้ามาพร้อมกับความจำเป็นที่ธุรกิจต้องพลิกโฉมตัวเองให้มีความเป็นองค์กรดิจิทัลมากขึ้น คำถามก็คือ เอสเอ็มอีมีความพร้อมแค่ไหน

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 643 รายเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ทำการสำรวจในระหว่างวันที่ 15 ถึง 25 ธันวาคม 2561 ได้ผลดังนี้

รูปที่ 1 สรุปผลจากการสอบถามถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อธุรกิจในปี 2562 แล้วนำมาสร้างเป็นดัชนีประเมินระดับความรุนแรงของผลกระทบด้วยการคิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 1% ถึง 100% โดยสัดส่วนที่สูงขึ้นหมายถึงระดับผลกระทบที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะพบว่า ปัจจัยสำคัญ 5 อันดับแรกที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเอสเอ็มอี ได้แก่ 1) การเมือง คิดเป็น 81.4% 2) เศรษฐกิจไทย คิดเป็น 78.2% 3) เศรษฐกิจโลก คิดเป็น 67.3% 4) ปัจจัยด้านการขาดแคลนบุคลากร คิดเป็น 64.30% และ 5) การแข่งขันที่สูงขึ้นก็มีผลต่อธุรกิจในระดับที่ใกล้เคียงกับภาวะเศรษฐกิจโลก คิดเป็น 62.80% ผลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อธุรกิจ ส่วนปัจจัยภายในที่สำคัญ คือ ความรู้ความสามารถของบุคลากรที่เป็นรากฐานสำคัญของความเข้มแข็งของธุรกิจ

เอสเอ็มอียังไม่พร้อมเป็นองค์กรดิจิทัล

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อสอบถามถึงทิศทางการปรับตัวในปี 2562 ผู้ประกอบการ พบว่า 1) 64.4% ระบุว่า เน้นการทำตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น 2) 41.1% จะปรับโครงสร้างธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น 3) 38.2% เพิ่มการหาตลาดต่างประเทศ 4) 32.2% หาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต 5) 25.8% สร้างแบรนด์ของตนให้เป็นที่รู้จัก 6) 24.1% ปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน 7) 18.7% ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 8) 18.4% พัฒนาบุคลากร 7) 14.5% ใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน 8) 13.6% ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ และ 9) 12.6% ยังไม่มีแนวทางในการปรับตัวที่ชัดเจน

เอสเอ็มอียังไม่พร้อมเป็นองค์กรดิจิทัล

รูปที่ 2 สรุปอุปสรรคในการพลิกโฉมสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล ซึ่งพบว่า อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1) การขาดเป้าหมายที่ชัดเจน คิดเป็น 84.2% 2) ไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองได้ คิดเป็น 82.1% 3) ไม่ทราบว่าจะได้รับประโยชน์ในด้านไหนบ้าง คิดเป็น 77.3% 4) งบประมาณไม่เพียงพอ คิดเป็น 77.2% และ 5) ไม่เข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างการเดินทางให้กับลูกค้า คิดเป็น 72.7% ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ สัดส่วนของเอสเอ็มอีที่ระบุว่าเจอกับอุปสรรค 3 อันดับแรกมีถึง 4 ใน 5 สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าโลกในยุค 4.0 ซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่สามารถมองเห็นโอกาสและแนวทางการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้

ผลการสำรวจที่นำเสนอ แสดงให้เห็นว่า บรรยากาศในการแข่งขันทางธุรกิจของเอสเอ็มอีจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์มาทำตลาด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ในระยะสั้น การทำเช่นนี้อาจช่วยต่ออายุให้กับธุรกิจได้ แต่หากไม่มีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันระยะยาวด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนาบุคลากร และการพลิกโฉมสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล การปรับตัวในปี 2562 จะกลายเป็นงานยาก ยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ขนาดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด ความสามารถในการปรับตัวให้ล้อไปกับคลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงต่างหากที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง