จีนจะยอม “ถอย” ในเรื่องของยุทธศาสตร์ Made in China 2025?

จีนจะยอม “ถอย” ในเรื่องของยุทธศาสตร์ Made in China 2025?

เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2018 หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal (WSJ) รายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนกำลังวางแผนที่จะปรับเปลี่ยน

แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ภายในต้นปีนี้ เพื่อนำไปสู่การประนีประนอมกับสหรัฐในการเจรจาทางการค้าเพี่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน ทั้งนี้สหรัฐได้ขีดเส้นเส้นตายเอาไว้ว่า หากการเจรจากับจีนไม่บรรลุผลเป็นที่พอใจของสหรัฐภายใน 1 มี.ค. 2019 ก็จะมีการปรับขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนที่นำเข้ามาที่สหรัฐมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญจาก 10% เป็น 25% และอาจมีการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนทั้งหมดกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ข่าวดังกล่าวถือว่าเป็นข่าวดีอย่างมาก ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นทั่วโลกแต่ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่ายังไม่แน่ใจว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญตามที่สหรัฐต้องการหรือไม่ โดย WSJ รายงานว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐบางส่วนยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่า จีนจะปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ Made in China อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ กล่าวคือ “the revision is likely to be treated with skepticism by Trump officials some of whom are likely to see the changes as more cosmetic than real” (กล่าวคืออาจมีการปรับเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์แบบ ผักชีโรยหน้า มากกว่า)

ผมเองก็มองว่าแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 นั้น เป็นเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่จะผลักดันให้จีนเป็นผู้นำในเทคโนโลยีชั้นนำ 10 ด้าน ภายในปี 2025 เพราะ

1.จีนมีความพร้อมที่จะพัฒนาเป็นประเทศชั้นนำในด้านเทคโนโลยี

2.เป็นการขับเคลื่อนจีนไปสู่ “4.0” เพื่อให้หลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle income trap)

3.การเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนั้น นอกจากจะให้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจในด้านการทหารอย่างเต็มรูปแบบ

จีนจะยอม “ถอย” ในเรื่องของยุทธศาสตร์ Made in China 2025?

กล่าวคือผมยังมองไม่ค่อยเห็นว่าทำไมจีนจะยอม ถอยในการขับเคลื่อน Made in China 2025 ซึ่งเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญยิ่งและหากทำสำเร็จก็จะเป็นงานชิ้นโบว์แดงของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่จะทำให้จีนกลับมาเป็นประเทศมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ผมจึงเข้าใจว่าทำไมเจ้าหน้าที่สหรัฐบางคนยังคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่จีนจะเสนอนั้นจะ “more cosmetic than real”

ซึ่งตามรายงานข่าวบอกว่าข้อเสนอของจีนที่มีความเป็นรูปธรรม คือการจะเสนอยกเลิกเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ใน Made in China 2020 ว่าส่วนประกอบที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศสำหรับการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่ 40% ในปี 2020 และ70% ในปี 2025 หมายความว่าจะยังพึ่งพาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากกว่า 60% ในปี 2020 และมากกว่า 30% ในปี 2025 ก็ได้ ตรงนี้จีนคงหวังว่าจะทำให้ธุรกิจสหรัฐ (ที่เป็นผู้ที่จะผลิตและขายชิ้นส่วนให้กับจีน) จะหันมาสนับสนุนท่าทีของจีนและช่วยกดดันให้รัฐบาลสหรัฐหาทางประนีประนอมกับรัฐบาลจีนและยุติสงครามการค้า

การกำหนดเป้าหมายที่เข้มงวดน้อยลงหรือจะไม่กำหนดเป้าหมายอย่างเป็นทางการนั้น จะเป็นเพียงการ “ซื้อเวลา” ของจีนเพื่อสงบศึกกับสหรัฐไปก่อน แต่ก็ยังจะมีความพยายามลดทอนการพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐและพัฒนาเทคโนโลยีของจีนเองอยู่ดีอย่างเงียบๆ หรือไม่? หากพิจารณาจากการที่จีนมองได้ว่าถูกสหรัฐ “แกล้ง” บริษัทชั้นนำของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในกรณีของบริษัท ZTE หรือหัวเหว่ยแล้วก็อาจเชื่อได้ว่าจีนจะไม่ยอมลดทอนความมุ่งมั่นที่จะรีบเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง (อย่างเร็วที่สุดโดยการลอกเลียนเทคโนโลยีสหรัฐ) เพื่อให้สามารถเทียบเคียงกับสหรัฐในระยะเวลาที่สั้นที่สุดและไม่ต้องพึ่งจมูกสหรัฐหายใจเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

แต่ในประเด็นนี้รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ (ซึ่งเป็นนักเรียนนอกที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ของสหรัฐ) ที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่สนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจ (reformist) ของจีนให้เหตุผลว่าการลดทอนเป้าหมายต่างๆ และการลดทอนบทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นจะเป็นประโยชน์กับจีนเอง เพราะว่นโยบายและมาตรการที่ดำเนินมาในอดีตนั้น ทำให้เกิดการบิดเบือนและสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก เช่น การอุดหนุนให้เร่งผลิตแผง solar cell และแบตเตอรี่ไฟฟ้าและรถไฟฟ้า จนทำให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาสินค้าตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนตามมา เป็นต้น

ฝ่ายสหรัฐก็มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะกดดันให้ทางากรจีนยุติมาตรการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจจีนในทุก มิติ โดยต้องการให้ธุรกิจของจีนต้องแข่งขันกับธุรกิจของสหรัฐตามกลไกตลาดเสรี จึงมีข้อเรียกร้องให้จีนต้องยอมรับหลักการ competitive neutrality principle ซึ่งสหรัฐได้กดดันให้ประเทศแคนาดาและเม็กซิโกยอมรับแล้ว ในข้อตกลงนาฟต้าฉบับใหม่ที่เรียกว่า USMCA แต่จะเห็นได้ว่าน่าจะยังมีช่องว่างที่กว้างมากระหว่างท่าทีของจีนและสหรัฐเกี่ยวกับ Made in China 2025 ครับ