พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลาย ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ (ตอน 1)***

พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลาย ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ (ตอน 1)***

‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ (ฉสม) เป็นตัวบทวรรณคดีมลายูแบบจารีตประเภทประวัติศาสตร์นิพนธ์ ที่นำเสนอเนื้อหาในลักษณะเรื่องเล่า

ด้วยรูปแบบกลอน ฉาอิร ฉสม ประกอบด้วยบทกลอนฉาอิรขนาดยาว 1,102 บท (4,408 วรรค) เป็นต้นฉบับตัวเขียนอักษรยาวีที่ใช้สำนวนภาษามลายูแบบเก่า เล่าเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัฐสุลต่านมลายูสองเมือง ได้แก่ ปาตานี และเกอดะฮ (ไทรบุรี) ในยุคที่เป็นรัฐบรรณาการของสยามในปี พ.ศ.2351-2353 ที่สุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฮาลิมฉะฮ ที่ 2 ต้องส่งกองทัพบกเกอดะฮไปปราบกบฏดาตูปังกาลันที่ปาตานี และส่งกองทัพเรือเป็นแนวร่วมฝ่ายสยามไปทำศึกกับพม่าในการกู้เมืองสาลัง(ถลาง) ให้กลับคืนมาเป็นของสยามในปี พ.ศ.2352 จนสำเร็จ

ต้นฉบับตัวเขียน ฉสม มีสำนวนเดียวเท่านั้นคือ MS No.19 ซึ่งพิพิธภัณฑ์บริติชซื้อมาจากกองเอกสารของ J. Crawfurd ปัจจุบันถูกจัดเก็บไว้ในห้องสมุดบริติช ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ฉสม มีลักษณะโดดเด่นตรงที่กวีนิรนามเจ้าของผลงาน ได้มอบความมั่นใจแก่ผู้อ่านว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เล่าผ่าน ฉสม นั้นเป็นเรื่องที่ท่านได้ร่วมรับรู้และเห็นจริงโดยตลอด ดังความในฉาอิรบทที่ 1078-1102 ตอนท้ายบท ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษารายละเอียดของ ฉสม ดังปรากฏผลในเอกสารรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์

เรื่องนี้ได้ศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ที่เริ่มต้นด้วยกิจกรรมการปริวรรตตัวบท ฉสม MS No.19 ภาษามลายูจากอักษรยาวีเป็นอักษรรูมี ตามด้วยกิจกรรมการแปลเอาความจากตัวบทฉบับปริวรรตเป็นอักษรรูมีนั้นเป็นภาษาไทย ต่อด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาจากตัวบท และทำความเข้าใจหาความหมายจากตัวบทหลักนั้น โดยใช้วิธีวิทยาแนวนิรุกติศาสตร์มลายูเป็นวิธีหลัก และวิธีวิทยาเชิงประวัติศาสตร์ ประสมประสานกับแนวคิดทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา วัฒนธรรม และทฤษฎีวรรณคดีที่เหมาะสม โดยเฉพาะ ‘Reception Theory’ ผลงานของ Franco Meregalli (1980) ที่มองความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทกับผู้อ่าน โดยเชื่อว่าวรรณคดีแต่ละเรื่องย่อมมีความหมายเหมือนกับที่ ผู้อ่าน ได้ให้ความหมาย ซึ่งผู้อ่านอาจเกิดความคิดที่คล้อยตามหรืออาจต่อต้านไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่สะท้อนผ่านภาษาของตัวบทที่เขาอ่านนั้นก็ได้ เพราะในความเป็นจริงนั้น เนื้อหา(ตัวบท)ของวรรณคดีแต่ละเรื่องประกอบด้วยถ้อยคำภาษาที่ให้ความหมายได้มากกว่าหนึ่งความหมาย (polysemy) (Umar Junus, 1985 : 87; Mana Sikana, 1990 : 37)

การเก็บข้อมูลในการวิจัยเรื่องนี้ได้เน้นที่การศึกษาตัวบท ฉสม เป็นหลัก เอกสารประวัติศาสตร์ และเอกสารทางวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นรอง การเก็บข้อมูลจากเอกสารดังกล่าวนั้นได้ดำเนินการควบคู่กับการเก็บข้อมูลภาคสนามในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย ที่ใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์บุคคลเชิงลึกที่มีการนัดหมายล่วงหน้า และการพูดคุยกับผู้รู้อย่างไม่เป็นทางการ ผู้ให้ข้อมูลหลักประกอบด้วยนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นักวรรณคดีมลายูแบบจารีต นักคติชนวิทยา ผู้นำนอกระบบในพื้นที่เก็บข้อมูล นักวิชาการ/นักวิจัยในพิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยใช้แนวคำถามในการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ดังกล่าวตามที่ได้เตรียมแล้วล่วงหน้า ผู้วิจัยรายงานผลการวิจัยนี้ในลักษณะการพรรณนา-วิเคราะห์ตีความ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 บท ได้แก่ 

บทที่หนึ่ง กล่าวถึงเหตุผลและที่มาของงานวิจัยนี้ ที่อ้างถึงวัตถุประสงค์ 4 ข้อเพื่อตอบโจทย์การวิจัย 4 ข้อ  บทที่สอง  กล่าวถึงภูมิรู้เกี่ยวกับวรรณคดีมลายูแบบจารีตแนวประวัติศาสตร์นิพนธ์ ประเภทร้อยกรองฉาอิร ที่กวีนิรนามผู้รจนา ฉสม ว่าเป็นเรื่องของสุลตันอะฮมัดตาฌุดดินฮาลิมฉะฮ ที่ 2 ซึ่งชาวเกอดะฮได้ถวายพระสมัญญานามว่า “สุลตันเมาลานา” นอกจากนี้มีการแนะนำผลงานและความรู้จากเอกสารประเภทงานวิจัย ปริญญานิพนธ์ หนังสือ บทความทางวิชาการหลากหลายชื่อเรื่อง ที่เป็นผลงานของนักวิชาการอาวุโส รวมทั้งบัณฑิตในสาขาภาษาและวรรณคดีมลายูแบบจารีต และนักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาวรรณคดีประวัติศาสตร์นิพนธ์เรื่องนี้ 

บทที่สาม กล่าวถึงวิธีดำเนินการวิจัยให้ได้มาซึ่งคำตอบของโจทย์วิจัย 4 ข้อ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในบทที่หนึ่ง บทที่สี่ กล่าวถึงความรู้เรื่อง ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ ที่ครอบคลุมที่มาของชื่อเรื่อง กำเนิดของเรื่อง ลักณะทางกายภาพของต้นฉบับ ฉสม ความจำเป็นที่ต้องทำการปริวรรตตัวบทซ้ำ เรื่องย่อ รูปแบบ ภาษา การสะกดคำ สไตล์การใช้ภาษา การลำดับเหตุการณ์ของ ฉสม เป็นต้น บทที่ห้า  การปริวรรต-แปลเอาความ ตัวบทฉาอิรสุลตันเมาลานา บทที่หก  การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่าง ฉสม ฉบับปริวรรตใหม่กับ ฉสม ที่ปริวรรตก่อนนั้นแล้ว 2 ฉบับ เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะการอ่านและตีความที่เหมือนกันและแตกต่างกัน บทที่เจ็ด การวิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสารหลักโดยเฉพาะ 

บทที่แปด การเปรียบ เทียบมุมมองจากฝ่ายมลายูและไทยต่อศึกกู้เมืองถลาง ที่ได้มาจากการศึกษาภาคสนามในพื้นที่และบุคคลในรัฐเคดาห์และปะลิสประเทศมาเลเซียและจังหวัดทางฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยปัจจุบัน และ บทที่เก้า เป็นบทส่งท้ายที่สรุปผลการวิจัยโดยรวมและมุมมองการเห็นถึงคุณค่าของ ฉสม ที่มีความเป็นไปได้หากได้นำความรู้จาก ฉสม ไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมพหุวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน

[ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่ได้มาจากงานวิจัยเรื่อง พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลายในต้นฉบับตัวเขียนเรื่อง ‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนงบประมาณจนสามารถดำเนินการวิจัยให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอขอบคุณสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ณ ที่นี้ด้วย]

 

*** ชื่อเต็ม: พินิจภาพสะท้อนที่หลากหลายในต้นฉบับตัวเขียน‘ฉาอิรสุลตันเมาลานา’ (ตอน 1)

โดย...

ศ.ดร.รัตติยา สาและ

นักวิจัย ฝ่าย 1 สกว.