พฤติกรรมและโอกาสแห่งความสำเร็จ

พฤติกรรมและโอกาสแห่งความสำเร็จ

ยิ่งลงมือเร็ว ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จ

สิ่งที่คนทำงานทุกยุคทุกสมัยแสวงหากันตลอดชีวิตคือ “ความสำเร็จ” และสิ่งที่ทุกคนต้องการหลีกลี้หนีให้ไกลก็คือ “ความล้มเหลว” แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือทั้ง 2 สิ่งนั้นเราเลือกไม่ได้ว่าจะพบสิ่งใดก่อนหรือหลัง และคนที่ประสบความสำเร็จอาจจะต้องเคยประสบกับความล้มเหลวมาก่อนแทบทั้งนั้น

ขณะที่คนเคยประสบความสำเร็จมาแล้วก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าจะคงความสำเร็จไว้ได้ตลอดไป เพราะเขาอาจต้องพบกับความล้มเหลวจนทำให้ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้งได้เสมอ ซึ่งถ้าไม่โชคร้ายจนเกินไปก็อาจกลับมาสร้างความสำเร็จในครั้งต่อไปได้อีก

ตัวอย่างของการเวียนว่ายตายเกิดในแวดวงธุรกิจทุกวันนั้นมีให้เห็นจำนวนมาก นักธุรกิจสามารถเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดได้หลายครั้งในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี เช่นสตีฟ จ็อบส์ที่ล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน 

ในอดีตการเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดเช่นนี้อาจกินระยะเวลายาวนานหลายสิบปี เช่น บริษัทจีอีที่ถือกำเนิดมาจากธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้า ก่อนจะขยายธุรกิจต่อเนื่องสู่สาธารณูปโภค โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เครื่องยนต์เจ็ตสำหรับเครื่องบินโดยสาร ไปจนถึงธนาคารและสถาบันการเงิน การปรับตัวตามพลวัตรของโลกทำให้จีอีคงกระพันเป็นบริษัทชั้นนำของโลกมายาวนานกว่า 100 ปี และติดอันดับบริษัทที่ดีที่สุดของโลกมาหลายครั้งหลายหนจนผู้บริหารของจีอีเช่นแจ็ค เวลช์กลายเป็นนักธุรกิจชื่อดัง จนแทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าจีอีจะตกต่ำจนต้องขายกิจการมากมายและมีโอกาสต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในเร็วๆ นี้

ตัวอย่างของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วหลายสิบปีก็มีให้เห็นไม่น้อย และบริษัทเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศในหลายๆ อุตสาหกรรม ทั้งด้านโทรคมนาคม ค้าปลีก สื่อ ฯลฯ

แต่ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคกำลังสั่นคลอนอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างหนัก นับตั้งแต่สื่อที่ทุกวันนี้จะพบว่าเราเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว กว่าจะนึกได้ว่าเราดูโทรทัศน์ครั้งสุดท้ายเมื่อใด

จึงตระหนักได้ว่าทุกวันนี้เราเสพสาระและข่าวสารต่างๆ ผ่านทางระบบออนไลน์เป็นหลักไปแล้ว ยิ่งทุกวันนี้มีระบบที่ทำให้ตรวจสอบได้ว่าใช้เวลากับสื่อใดมากที่สุดก็ยิ่งทำให้ได้เห็นว่าใช้เวลากับสื่อดั้งเดิมน้อยลงมาก ตัวผมเองก็พบว่าใช้สกรีนไทม์ไปกับสารคดีถึง 15-16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งหมายความว่าแทบจะไม่มีเวลาเหลือไปดูรายการในโทรทัศน์เลย

เช่นเดียวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่คนรุ่นใหม่หันมาใช้ระบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มส่งผลกระทบกับธุรกิจค้าปลีก เพราะลูกค้าต้องการความสะดวกสบายและไม่ต้องการเดินทางฝ่าการจราจรเพื่อไปซื้อสินค้าที่ตัวเองต้องการอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เราจึงมีเวลาเตรียมการเพื่อปรับตัว และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การจมอยู่กับสิ่งที่เคยทำและอยู่เฉยโดยไม่เรียนรู้สิ่งใหม่แล้วหวังให้สถานการณ์ดีขึ้นได้จึงเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย

ทุกสิ้นปีเมื่อต้องประเมินผลงานในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หากธุรกิจหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบยังคงไม่ก้าวหน้าไปไหน หรือมีรายได้ตกต่ำอยู่โดยอ้างว่าได้ผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงถือว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา และพฤติกรรมผู้บริโภคก็ปรับตัวตามแนวโน้มดังกล่าวมาเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะมองเห็นแนวโน้มเหล่านี้เมื่อไร และยอมรับความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

ยิ่งรับความเป็นจริงได้เร็วก็ยิ่งรู้ได้เร็วขึ้นว่า ธุรกิจที่ทำอยู่นั้นไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคแล้วจึงแสวงหาหนทางใหม่ ซึ่งเปิดกว้างให้เสมอ ยิ่งคิดและลงมือเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าไร ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในครั้งใหม่ได้เร็วขึ้น

เพราะความสำเร็จเป็นปลายทางสำคัญ จึงขออำนวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ เป็นการเปิดรับโอกาสแห่งความสำเร็จที่กำลังมาถึงในปี 2562 นี้

...สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ