หลับในห้องประชุม ผิดไหม?

หลับในห้องประชุม ผิดไหม?

การที่เราเห็นคนนั่งหลับในห้องประชุม ไม่ได้หมายความว่า คน ๆ นั้นจะไม่ได้ยินสิ่งที่เราพูดเสมอไป

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมประจำปี หัวข้อบทบาทของผู้นำกับวัฒนธรรมองค์กรให้กับผู้บริหารองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับชาติองค์กรหนึ่ง ทางเจ้าภาพแจ้งมาว่าจะเป็นการบรรยายประมาณ 1 ชั่วโมงให้ CEO และผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด 100 ท่าน 

พอดิฉันเห็นรายชื่อผู้บริหารที่เข้ามาประชุม รู้สึกตื่นเต้นเลยค่ะ แต่ละท่านถือว่ามีโปรไฟล์ระดับชาติ ทั้งความเก่ง ความเก๋า ชื่อเสียง ผลงาน ดิฉันเองก็แอบชื่นชมหลายท่านในฐานะผู้บริหารในดวงใจ

ก่อนขึ้นเวทีค่อนข้างมั่นใจเพราะเป็นหัวข้อที่ถนัด ดิฉันแอบเหลือบไปมองผู้บริหารที่นั่งรอฟังบรรยาย แต่ละท่านดูมีออร่า สง่าสมเป็นผู้นำแถวหน้าของเมืองไทย พอพิธีกรประกาศเริ่ม ดิฉันค่อย ๆ เดินขึ้นเวที และกล่าวสวัสดีพร้อมแนะนำตัวเองสั้น ๆ ไม่เกิน 1 นาที หลังจากแนะนำตัวเสร็จ ภาพที่ดิฉันเห็นตรงหน้าคือ ผู้บริหารแถวหน้าทั้งหมดหลับตาลง…

โอ้แม่เจ้า นี่ยังไม่ทันเริ่มเลย เราทำเอาท่านหลับกันเป็นแถว ความมั่นใจของดิฉันตกลงไปที่ตาตุ่ม!

The show must go on ดิฉันพูดต่อไปอีก 30 นาที ในใจก็คิดว่ายังมีผู้บริหารแถวหลังอีกราว 70 ท่าน ที่ยังตั้งใจฟังเราอยู่ ส่วนผู้บริหารแถวหน้านั้น ยังคงนั่งหลับตาต่อไป

หมดเวลา 45 นาที เป็นช่วงถามตอบ ดิฉันถามว่ามีท่านใดมีคำถามไหมคะ ทันใดนั้นเอง ผู้บริหารทั้งหมดต่างลืมตาขึ้นอย่างพร้อมเพรียง ราวกับตั้งนาฬิกาปลุก แถมมี 3 ท่านที่ยกมือถามคำถามอย่างน่าสนใจ

จบการบรรยาย ตัวแทนผู้บริหารขึ้นมากล่าวขอบคุณ ดิฉันได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง แต่ตัวเองกลับเดินลงจากเวทีแบบงง ๆ พร้อมคำถามในใจ

“ท่านไม่ได้หลับนี่นา”

“ท่านเหมือนจะได้ยินที่เราพูด”

“ตกลงท่านได้ฟังสิ่งที่เราพูดหรือเปล่า”

ก่อนกลับ เจ้าของงานออกมาส่ง ดิฉันจึงอดถามไม่ได้ว่าโอเคไหมเพราะเห็นผู้บริหารนั่งหลับ

เจ้าของงานยืนยันว่าดีมากค่ะอาจารย์ ไม่ต้องกังวลเพราะผู้บริหารที่นี่หลับในห้องประชุมเป็นเรื่องปกติ แต่ท่านได้ยินที่อาจารย์พูดนะคะ คล้าย ๆ กับท่านใช้โหมดประหยัดพลังงาน!!

งานนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงบทความหนึ่งที่คุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการ บริษัทสลิงชอทกรุ๊ป เขียนเกี่ยวกับ การฟัง (Listening) กับการได้ยิน (Hearing) ไม่เหมือนกัน

การได้ยินนั้น เราคือผู้ตัดสินว่าได้ยินหรือไม่ ในขณะที่การฟัง คนอื่นเป็นคนตัดสินว่าเราฟังหรือไม่

ดิฉันมักได้ยินบ่อย ๆ ว่าลูกน้องรู้สึกว่าหัวหน้าไม่ฟัง เพราะการฟังที่แท้จริงต้องประกอบด้วย 5 องค์ประกอบคือ ฟังด้วยหู ฟังด้วยตา ฟังด้วยตัว ฟังด้วยปาก และฟังด้วยใจ

สำหรับที่นี่แม้การหลับตาในห้องประชุม อาศัยการได้ยินเสียงเพียงอย่างเดียว จะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับองค์กรทั่ว ๆ ไป หากผู้นำฝึกทักษะการฟังให้ครบทั้ง 5 องค์ประกอบจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์นานาประการ โดยเฉพาะการทำเดินธุรกิจในโลกปัจจุบันนี้ที่แม้ผู้บริหารระดับสูงสุดก็ไม่มีคำตอบให้กับทุกเรื่อง พนักงานเองอาจเป็นผู้เห็นโอกาสจากสิ่งที่เขาลงมือทำเพื่อต่อยอดทางธุรกิจมากกว่าผู้บริหาร

การฟังช่วยให้ผู้บริหารเข้าถึงความหลากหลายทางความคิด ทางออก โอกาสที่แม้แต่ผู้บริหารก็ไม่เคยเห็น การฟังช่วยให้ผู้บริหารเห็นจุดที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตและลงมือแก้ไขก่อนที่มันละกลายเป็นปัญหาใหญ่

ในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างหัวหน้าลูกน้อง การฟังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและคนในองค์กร ช่วยสร้างความไว้วางใจ ช่วยพัฒนาการทำงานเป็นทีม ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับตัวผู้บริหารเอง ช่วยทำให้พนักงานผูกพัน และช่วยทำให้พนักงานรู้สึกถึงความใส่ใจที่ผู้บริหารมีต่อพนักงาน

A good leader is a great listener!