แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย: มาสายดีกว่าไม่มา

แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย: มาสายดีกว่าไม่มา

คนที่เคยตื่นสายจนเข้าประชุมตอนเช้าไม่ทัน คงจะเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ควรไปประชุมสาย หรือไม่ไปเลยดีกว่า

คำตอบคงขึ้นกับหลายปัจจัย คือ การประชุมสำคัญหรือไม่ เราเป็นประธานหรือเปล่าและถ้าไม่ไปการประชุมจะเสียหายไหม แต่ไม่ว่าใจจะคิดหาเหตุผลอย่างไร คำตอบที่ดีสำหรับทุกครั้ง คือ ไปสายดีกว่าไม่ไป เพราะแม้ไปสายก็ยังทำหน้าที่ต่อได้ แสดงถึงความรับผิดชอบ ไม่เสียประวัติ และเป็นไปตามการความคาดหวังของทุกคนที่เข้าประชุม ที่สำคัญในใจเราเอง ถ้าไม่ไปประชุมเพราะตื่นสายจะรู้สึกไม่ดีเลย เหมือนเป็นความผิด คือ ได้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ จะกลับมาคิดว่ารู้งี้ เข้าประชุมดีกว่า ก็สายไปแล้ว เขาจึงบอกว่า ไปสายดีกว่าไม่ไปเลย

อาทิตย์ที่แล้ว แบงก์ชาติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 1.75 เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียที่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ ทุกประเทศเขาได้ปรับขึ้นกันไปหมดแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในเศรษฐกิจโลก แต่ของเรายืนกรานไม่ยอมปรับขึ้นมาตลอด โดยให้เหตุผลว่า ต้องการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้า และเสถียรภาพของระบบการเงินไม่มีปัญหา แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน อาทิตย์ที่แล้วก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก โดยให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างความสามารถในการทำนโยบาย(Policy space) และแม้ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ก็ยังสนับสนุนธุรกิจอยู่ แต่ต้องถือว่าปรับช้ามาก เมื่อเทียบกับทิศทางของวัฎจักรดอกเบี้ยและวัฎจักรเศรษฐกิจโลกขณะนี้ เป็นแบบมาสายดีกว่าไม่มา

ที่บอกว่ามาสายก็เพราะ วัฎจักรอัตราดอกเบี้ยและวัฎจักรเศรษฐกิจโลกได้เริ่มเปลี่ยนทิศทางจากขาลงเป็นขาขึ้นมาตั้งแต่สามปีก่อน ที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในเดือน ธ.ค.ปี 2015 จากที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวเข้มแข็งหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2008 จากนั้นก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐ จนล่าสุด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ก็ยังปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเป็นร้อยละ 2.50 การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวได้เปลี่ยนวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกเป็นขาขึ้น ทำให้ทุกประเทศในเอเชียเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศของตนขึ้นตาม แต่กรณีของประเทศไทยช่วงสามปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยไม่ได้มีการปรับขึ้นตามวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยโลก เพราะต้องการยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลคือ สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จนหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77.5 ของรายได้ประชาชาติ ในบางภาคธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อมีการขยายตัวมากจนมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ ธนาคารแห่งประเทศจึงต้องออกมาตรการ ( Macroprudential ) เพื่อชะลอการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ และลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว จากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกที่ได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจไทยก็ชะลอลงเช่นกัน เห็นได้จากตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยไตรมาสสามปีนี้ ที่ลดลงเหลือร้อยละ 3.3 การชะลอตัวของเศรษฐกิจ กระทบรายได้ของภาคครัวเรือนและความสามารถในการชำระหนี้ ผลคือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบการเงินของเรามีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญของทุกธนาคารพาณิชย์ขณะนี้

ที่น่าสังเกตุคือ คะแนนเสียงของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ออกมาคราวนี้ ที่ 5 : 2 คือ 5 คนเห็นควรขึ้นดอกเบี้ย อีก 2 คน เห็นควรคงดอกเบี้ย แสดงว่าความคิดเห็นของคณะกรรมการไม่เป็นเอกฉันทน์ เสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเห็นว่า จำเป็นต่อการสร้างพื้นที่ทางด้านนโยบายการเงินไว้สำหรับในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเศรษฐกิจโลกปีหน้าคงชะลอตัวแน่นอน โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่จะชะลอการค้าโลก ปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง ทั้งในยุโรป สหรัฐ และ จีน ที่จะกระทบความปลอดภัยในการเดินทางและการทำธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งหมายถึงกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาการเมืองในประเทศเอง หลังการเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร ใครจะมาเป็นรัฐบาลจะอยู่ได้นานไหม นโยบายจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นความไม่แน่นอนที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมช่วงครั้งแรกของปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจปีหน้าจะมีแรงกดดันให้ชะลอลง

เมื่อเศรษฐกิจชะลอการแก้ไขดูแลก็คือ ต้องมีนโยบาย หรือเครื่องมือที่จะชดเชยคือใช้กระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว ซึ่งก็คือ นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน นโยบายคลัง พื้นที่ขณะนี้เหลือน้อยลงเพราะรัฐบาลกำลังใช้จ่ายมากในรูปของเงินโอนหรือเงินให้เปล่า ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นการแจกเงินเพื่อหาเสียง เงินที่กำลังนำมาใช้แจกขณะนี้ ก็มาจากงบประมาณแผ่นดิน ในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะไปจบเอาก็เดือนกันยายนปีหน้า ทำให้ปีหน้าหลังเลือกตั้งอย่างน้อย 7 เดือน รัฐบาลอาจไม่มีพื้นที่ด้านการคลังเหลือเพียงพอที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในกรณีที่เศรษฐกิจปีหน้าชะลอตัวมาก จะใช้วิธีกู้เงินก็ไม่ได้ เพราะจะติดเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมาย ผลคือ พื้นที่นโยบายการคลังที่จะมีสำหรับใช้จ่ายในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงปีหน้าจะมีน้อย เพราะเอามาใช้ปีนี้แล้ว

สำหรับนโยบายการเงิน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ที่จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคตในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอลงมาก กล่าวคือ ก่อนที่ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ปรกติอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 1.0 เพราะเราไม่ได้เป็นประเทศที่มีวิกฤติ ถ้าไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.5 เป็น ร้อยละ 1.75 เราก็จะมีพื้นที่นโยบายเพียงร้อยละ 0.5 ที่จะสามารถใช้การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เราก็มีพื้นที่เพิ่มเป็นร้อยละ 0.75 ที่จะใช้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรณีที่จำเป็นต้องใช้การลดอัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ มองในลักษณะนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับนโยบายการเงิน จึงควรต้องปรับขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ปรับขึ้นครั้งเดียวแล้วหยุดอย่างที่เป็นข่าว ถ้าไม่กระทบอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจ

แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับสูงขึ้น ทำให้ภาระชำระหนี้เพิ่มขึ้นกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ กระทบเศรษฐกิจและจะทำให้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ ยิ่งจะรุนแรง ในเรื่องนี้ ก็เริ่มมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งออกมาพูดว่า จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตนตามแบงก์ชาติเพราะห่วงลูกหนี้ของตน ซึ่งผลก็คือ ถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่ส่งผ่านผลกระทบนี้ต่อลูกค้า ก็จะกระทบฐานะของธนาคารพาณิชย์เอง ซึ่งคงไม่ดีในแง่เสถียรภาพ กรรมการสองคน ที่ออกเสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยก็คงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ แต่ก็เป็นเสี่ยงส่วนน้อย แม้จะมีเหตุผลที่ดีว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ณ จุดนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนเป็นขาลงไปแล้ว อาจกระทบเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นผลดี

ที่ทั้งหมดออกมาเป็นอย่างนี้ ก็เพราะอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นช้าเกินไป อย่างน้อยก็เป็นปี ทำให้สินเชื่อขยายตัวมาก จนสร้างปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเมื่ออัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอ ก็สร้างข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจพร้อมกันไปด้วยอย่างที่เห็น นี่คือต้นทุนของการมาสาย แต่ก็ดีกว่าไม่มาเลย