'ความหลากหลายทางเพศ' กับเศรษฐกิจ

'ความหลากหลายทางเพศ' กับเศรษฐกิจ

ปัจจุบันหลายธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศและลูกค้ากลุ่ม LGBT

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ประเทศไทยกำลังจะมีพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต สาระสำคัญคือ อนุญาตให้บุคคลสองคนที่เป็น 'เพศเดียวกันโดยกำเนิด' สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตกันได้ หรือพูดง่ายๆ ว่าแต่งงานกันได้

สาระสำคัญของกฎหมาย เพื่อช่วยให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการอยู่ร่วมกัน สามารถดูแลกันได้ดีขึ้น ทั้งครอบคลุมประเด็นทรัพย์สินต่างๆ ที่ 2 ฝ่ายร่วมกันสร้างหลังใช้ชีวิตคู่ และประเด็นการจัดการมรดกหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต

ดังเหตุผลที่ระบุในตอนต้นของร่างพ.ร.บ. ว่า 'ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ สิทธิและหน้าที่ในการเป็นคู่ชีวิตเช่นเดียวกับคู่สมรส ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และขัดต่อหลักการที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลดังกล่าว'

วันนี้เราจะคุยประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และ คนข้ามเพศ) ในมิติเศรษฐกิจกันครับ
ในเชิงเศรษฐกิจ พบว่าส่วนใหญ่ประชากรกลุ่ม LGBT มีกำลังซื้อสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา สูงถึงปีละ 917,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งานสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ครอบครัวที่แต่งงานระหว่างชาย-ชาย มีรายได้เฉลี่ยสูงเป็นอันดับหนึ่ง รองมาด้วยครอบครัวที่แต่งงานระหว่างหญิง-หญิง ในขณะที่ครอบครัวชาย-หญิง มีรายได้เฉลี่ยน้อยสุด โดยครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศชายด้วยกันมีรายได้สูงกว่าครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศถึง 36% ในขณะที่ครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศหญิงด้วยกันมีรายได้สูงกว่าครอบครัวที่แต่งงานระหว่างเพศ 9.7%

ปัจจุบันหลายธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางเพศและลูกค้ากลุ่ม LGBT หลายองค์กรมีนโยบายห้ามกีดกันความหลากหลายทางเพศ สินค้าจำนวนมากออกผลิตภัณฑ์มาเพื่อจับกลุ่ม LGBT เป็นการเฉพาะ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า บริษัทที่มีนโยบายเปิดรับความหลากหลายทางเพศชัดเจน ได้รับการสนับสนุนจากลูกค้ามากขึ้น และส่งผลดีต่อกำไรของบริษัท

ในโอกาสนี้ รัฐบาลไทยควรผลักดันให้ภาคธุรกิจยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง คุ้มครองสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ให้คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันได้รับเช่นคู่สมรสต่างเพศ ผลวิจัยชี้ว่า ยิ่งภาคธุรกิจเปิดรับความหลากหลายทางเพศ ยิ่งส่งผลดีต่อการขยายตัวทางธุรกิจ ทั้งยังส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

การแต่งงานของเพศเดียวกันยังช่วยเพิ่ม GDP ด้วย สถาบัน Williams Institute มหาวิทยาลัย UCLA ชี้ว่า หนึ่งปีหลังศาลสูง สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสูงถึง 1,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่ม 102 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานเพิ่มถึง 18,900 ตำแหน่ง

นอกจากนี้รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้โหมโรงการท่องเที่ยวเพื่อจับตลาด LGBT โดนเน้นภาพการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ข้อมูลจาก World Tourism Organization พบว่ามูลค่าการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ในปี 2016 อยู่ที่ 5-10% ส่วนใหญ่รายได้สูง ใช้จ่ายต่อการเดินทางแต่ละครั้งมาก มีความถี่ในการเดินทางบ่อย จากสถิติพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวแต่ละครั้งสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3 เท่า จากข้อมูลในสหรัฐฯ มูลค่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์สูงถึงปีละ 65,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยุโรปสูงถึงปีละ 50,000 ล้านยูโร

การจะโปรโมทให้ไทยเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว LGBT เป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย หลายประเทศต่างอยากเป็นจุดหมายกลุ่ม LGBT เช่น เยอรมนี บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เพราะล้วนเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้ อาทิ กรุงนิวยอร์ค ที่แต่ละปีนักท่องเที่ยว LGBT ไปเยือนไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน สร้างประโยชน์แก่ธุรกิจต่างๆ มากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้การสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมและสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ LGBT ก็เป็นประเด็นสำคัญ งานสำรวจพบว่า 1 ใน 10 ของ LGBT เคยโดนทำร้ายร่างกายในต่างประเทศ และกว่า 1 ใน 3 เคยโดนดูถูก เหยียดหยาม

ทุกท่านครับ ไม่ว่าจะในมิติสังคมหรือเศรษฐกิจ การยอมรับความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ส่งผลดีจริงๆ ครับ