เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว

เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว

“เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว” ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินผ่านหูหรือเคยอ่านผ่านๆตาไปบ้างแล้วจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือต่างๆที่มีมากมายในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี วันนี้ทางทีมฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ASL จะมารวบรวม และวิเคราะห์กันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวมาจากอะไร

เริ่มต้นที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ล่าสุดที่พึ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ระดับ 2.25-2.50% สรุปทั้งปี FOMC ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง อีกทั้งยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในปี 2563 เอาไว้ที่ระดับ 2% ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.8% และปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวในระยะยาว สู่ระดับ 1.9% และส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอีก 2 ครังในปี 2562 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2.75-3.00% ส่งผลกระทบด้านลบต่อกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (emerging market) ไม่ว่าจะเป็น Flow ไหลออก สูญเสียสภาพคล่องกระทบด้านค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่จะอ่อนค่าลงโดยเปรียบเทียบ ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้สูญเสียความสามารถทางการค้าได้ รวมถึงต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการสูงขึ้นที่สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้าจากเดิม 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง จะช่วยให้ ธนาคารกลางแต่ละประเทศสามารถกำหนดนโยบายการเงินได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ประเด็นในเรื่องสงครามการค้าที่ทวีความเข้มข้นเป็นลำดับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยในเรื่องนี้ทางฝ่ายกลยุทธ์ ASL จะขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือกลุ่มที่เสียประโยชน์ และกลุ่มที่ได้ประโยชน์

กลุ่มที่เสียประโยชน์จากสงครามการค้า ประเทศแรกที่นึกถึงคือประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการโต้ตอบการเก็บภาษีนำเข้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกที่เคยส่งให้สหรัฐฯ ต้องหาแหล่งส่งออกใหม่ไปยังประเทศอื่นๆแทน ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากสงครามการค้า แต่สถานการณ์ปัจจุบันแม้ว่าจะอยู่ในช่วงพักรบชั่วคราว 90 วัน (ครบกำหนดในวันที่ 1 มีนาคม 2562) ในการตั้งกำแพงภาษี พร้อมกันกับท่าทีที่อ่อนลงของทั้ง 2 ฝ่าย นับเป็นสัญญาณที่ดีแต่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะยังคงมีประเด็นในเรื่องของอำนาจทางเทคโนโลยีและข่าวการจับกุมผู้บริหารหัวเว่ย ที่ยังไม่มีท่าทีที่จะจบลงง่ายๆ

ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าไปจีนมาก ก็จะได้รับปัจจัยลบตามไปด้วย เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ส่วนอุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบไปด้วย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ส่วนกลุ่มที่ได้รับประโยชน์หลังเกิดสงครามการค้าที่เห็นได้ชัดในเอเชียคือ ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม จะได้รับประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากอานิสงส์การย้ายฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้า

สรุปภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงที่มาจากต่างประเทศจะมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดและสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับเศรษฐกิจมหภาคและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว

เมื่อกลับมามองปัจจัยในประเทศจากผลการประมาณการเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมาพบว่า ธปท. ได้ปรับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจลงจากเดิมรอบ ก.ย. 2561 อยี่ที่ 4.4% มาอยู่ที่ 4.2% ซึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐทีล่าช้าในบางโครงการและปริมาณการส่งออกที่หดตัวลงตามการค้าโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจาก trade war อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น

แนวทางในการดำเนินงานของ ธปท. ในปี 2562 จะมีการบังคับใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพ หรือ Macroprudential Policy ได้แก่ คุมการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ (LTV limit) ในเดือนเมษายน 2562 ส่งผลให้ผู้กู้ต้องวางเงินดาวน์เพิ่มขึ้นตามราคาอสังหาฯ หรือหากยังมีภาระผ่อนอสังหาฯ ค้างอยู่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความต้องการซื้ออสังหาฯ รวมถึงการเปิดโครงการอสังหาฯ ใหม่ชะลอตัวลง เนื่องจากที่ผ่านมาหนี้ภาคครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่สูงส่วนใหญ่มาจากภาคอสังหาฯ จึงได้มออกมาตรการคุมเข้มเข้ามา นอกจากนี้ ธปท.อาจมีมาตรการดูแลเสถียรภาพด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีก

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ซบเซาส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศนักท่องเที่ยวเอง แต่อย่างไรก็ตามตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 2561 จำนวนทั้งสิ้น 3.17 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.5%YoY ฟื้นตัวหลังจากที่ในเดือน ต.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลง 0.5%YoY

อาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวมาจากสาเหตุเรื่องสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่ทำให้ตลาดการเงิน ตลาดทุนผันผวนขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศคือหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ได้รับประโยชน์จากการการย้ายฐานการผลิต ปัจจัยสนับสนุนในปีหน้าเช่น การเลือกตั้งในช่วงต้นปี โครงการ PPP และ EEC ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนในโครงการ infrastructure ที่เติบโตต่อเนื่อง