ทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2562 (1)

ทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2562 (1)

เศรษฐกิจไทยเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผูกกับการขึ้นลงของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง เนื่องจากมีระดับการเปิดประเทศสูง

การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าไทยจะมีระบอบการปกครองแบบไหนก็ตาม การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจย่อมทำให้ระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จยากจะดำรงอยู่ได้ในสังคมไทย

ในปีหน้า ดูเหมือนว่า เศรษฐกิจโลกในแง่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าในปีหน้าจะชะลอตัวลงค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีแรก โดยจะกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ระดับ 3.6-3.7% คาดว่าปริมาณการค้าโลกเติบโตได้ที่ 3.8% การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2561 เกิดจากภาวะเงินที่ตึงตัวขึ้นจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจาก Brexit และการแยกตัวออกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ความตึงเครียดและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาคการบริโภคภายใน ตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 3.0 - 3.25% ในปีหน้าและคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ที่ 2.4 – 2.5% มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรีพับรีกันอาจออกมาน้อยลงหลังพรรคแดโมแครตขึ้นมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร มีความเสี่ยงที่สภาครองเกรสอาจไม่สามารถตกลงกับฝ่ายบริหารได้ตามกำหนดเวลาจนนำไปสู่การปิดที่ทำการของหน่วยงานรัฐ (Government Shutdown) ขณะเดียวกัน สมาชิก

พรรคแดโมแครตส่วนใหญ่ยังคงมีท่าทีไม่สนับสนุนการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างสุดโต่ง ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดและสงครามทางการค้าเบาลง

ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้นชะลอตัวลงบ้างแต่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวได้ประมาณ 1.9% และ ธนาคารกลางยุโรปน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจยูโรโซน คือ ปัญหาหนี้สาธารณะของบางประเทศโดยเฉพาะอิตาลีที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 132% และผลกระทบของ Brexit

ทางด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่น ภาคส่งออกญี่ปุ่นจะได้รับผลบวกจากข้อตกลงทางการค้า CPTPP และ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพยุโรป (Japan-EU EPA) ซึ่งญี่ปุ่นจะได้การลดภาษีสินค้าต่างๆกว่า 99% ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำสวนทางกับนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นของสหรัฐฯและยุโรป ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินยูโร นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่นนี้อาจดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 2020 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ 0.9% ในปีหน้า

ทางด้านเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงจากการปรับโครงสร้างภายใน ลดหนี้ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจและผลกระทบจากสงครามทางการค้า เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตที่ระดับ 6.2% ส่วนเศรษฐกิจประชาคมเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนยังคงขยายตัวได้ดี ท่ามกลางความผันผวนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน CLMV จะเติบโตได้ 6 - 7% ในปี พ.ศ.2562 โดยค่าแรงขั้นต่ำในกลุ่มประเทศ CLMV ปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจ