'แมนฯ ยูไนเต็ด' ผ่าตัดใหญ่ ฝ่ามรสุม ‘ฟุตบอล-ธุรกิจ’

'แมนฯ ยูไนเต็ด' ผ่าตัดใหญ่ ฝ่ามรสุม ‘ฟุตบอล-ธุรกิจ’

"ปิศาจแดง" เปลี่ยนตัวกุนซืออีกครั้ง หลังผลงานปีนี้ดิ่งเหว นับเป็นอีกมรสุมที่สโมสรต้องฟันฝ่า ในยุคที่โลกฟุตบอลและธุรกิจกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

การที่ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ตัดสินใจปลด “โชเซ มูรินโญ” อดีตผู้จัดการทีมพ้นตำแหน่งหลังทำผลงานออกสตาร์ทฤดูกาลพรีเมียร์ลีกย่ำแย่ที่สุดในรอบ 28 ปี และตั้ง "โอเล กุนนาร์ โซลชาร์" อดีตกองหน้าตำนานของสโมสรคุมทัพแทนจนจบฤดูกาลนี้ มาพร้อมกับคำถามที่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกหรือไม่

แชมป์พรีเมียร์ลีก 20 สมัยประกาศแยกทางกับมูรินโญที่คุมทีมได้เพียง 2 ฤดูกาลครึ่ง เมื่อวันอังคาร (18 ธ.ค.) หรือ 2 วันหลังเกมปราชัยต่อคู่ปรับสำคัญอย่างลิเวอร์พูล ซึ่งทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดจมอยู่ในอันดับ 6 ของตารางพรีเมียร์ลีกและมีคะแนนตามหลังอันดับ 4 ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุดที่จะได้ไปเล่นศึก “ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก” (ยูซีแอล) ในฤดูกาลหน้าถึง 11 คะแนน

“เมื่อสโมสรฟุตบอลเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีม ย่อมมีคำถามว่าเป็นการตัดสินใจเรื่องธุรกิจ หรือการตัดสินใจเรื่องฟุตบอล” แดน โจนส์ หัวหน้าหุ้นส่วนระดับโลกฝ่ายกีฬาของบริษัทดีลอยท์ กล่าว และว่า “ในความเป็นจริง การตัดสินใจแบบนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากคุณทำเงินนอกสนามได้ คุณก็จะมีเงินมาลงทุนกับทีมมากขึ้น”

มีข้อพิสูจน์อยู่บ้างว่า ผลงานในสนามอันย่ำแย่นั้นสร้างความเสียหายต่อสถานะทางการเงินของสโมสรจนถึงขณะนี้

รายงานวิจัยของ “เจฟเฟอรีส์” วาณิชธนกิจของสหรัฐที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (17 ธ.ค.) แนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้นของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เนื่องจากอยู่ในสถานะดีที่สุดที่จะได้ประโยชน์จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของลิขสิทธิ์รับชมการแข่งขัน และผลประโยชน์ที่มากขึ้นจากค่าโฆษณาระหว่างการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

แรนดัล เจ. โคนิก นักวิเคราะห์ของเจฟเฟอรีส์มองข้ามเรื่องผลงานในระยะสั้น โดยอ้างว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมีฐานแฟนบอลที่ “ไม่เหมือนใคร”

“แม้ผลงานของทีมสามารถสร้างความผันผวนได้ในแต่ละฤดูกาล แต่ประวัติศาสตร์การเป็นแชมป์และความสำเร็จของสโมสรนี้หาใครเทียบไม่ได้ และส่งผลให้มีผู้ติดตามมากกว่าทีมกีฬาทีมไหนในโลก” โคนิกระบุ

เจฟเฟอรีส์ คาดการณ์ว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีแฟนบอลทั่วโลกราว 659 ล้านคน โดยเกือบครึ่งหรือ 325 ล้านคนอยู่ในเอเชียแปซิฟิก

หลังประกาศปลดกุนซือชาวโปรตุเกสราคาหุ้นของแมนฯ ยูไนเต็ดก็ทะยานมากถึง 5.4% ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อวันอังคาร แม้ว่ามูลค่าหุ้นของสโมสรในปีนี้ลดลงไปแล้ว 8.3% ก็ตาม

ย้อนไปเมื่อกลางปีนี้ นิตยสารฟอร์บส์ของสหรัฐ ได้ยกให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครองอันดับ 1 ทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกประจำปี 2561 ซึ่่งนับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยมูลค่า 4,120 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 3,690 ล้านดอลลาร์

แต่ทว่า การปลดมูรินโญย่อมมาพร้อมกับ "ค่าใช้จ่าย" ก้อนโต เนื่องจากอดีตกุนซือเพิ่งขยายสัญญาคุมทีมไปจนถึงปี 2020 เมื่อไม่นานนี้ 

แม้แมนฯ ยูไนเต็ดไม่ยอมเปิดเผยจำนวนเงินชดเชยกรณีปลดมูรินโญก่อนจบฤดูกาล แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดในสโมสรเผยกับบลูมเบิร์กว่า อาจอยู่ที่ระหว่าง 12-16 ล้านปอนด์ ขณะที่สื่ออังกฤษบางสำนักระบุว่าอาจมากถึง 24 ล้านปอนด์

ผลสำรวจของดีลอยท์ ระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครองตำแหน่งสโมสรฟุตบอลรวยที่สุดของยุโรป (ในแง่ของรายได้) เป็นครั้งที่ 10 ช่วงฤดูกาล 2016-2017 ผลจากความสำเร็จของสโมสรที่สามารถคว้าแชมป์ “ยูโรปา ลีก” ถ้วยสโมสรยุโรปใหญ่อันดับ 2 รองจากยูซีแอล

รายได้ของ “ปิศาจแดง” ในช่วงนั้นอยู่ที่ 581.2 ล้านปอนด์ มากกว่าทั้ง “เรอัล มาดริด” และ “บาร์เซโลนา” 2 ยักษ์ใหญ่จากสเปน ขณะที่รายได้จากการทำธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 48% ของรายได้ทั้งหมด และยังสูงกว่าคู่ปรับร่วมเมืองอย่าง “แมนเชสเตอร์ ซิตี” ถึงกว่า 40%

แต่กระนั้น แม้แมตช์ส่วนใหญ่ในสนามเหย้า “โอลด์ แทรฟฟอร์ด” ที่มีความจุ 75,000 ที่นั่ง ยังคงมีผู้ชมเต็มสนาม แต่ก็มีหลายครั้งที่ขายที่นั่งไม่หมด นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เห็นบ่อยนักสำหรับยูไนเต็ดในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

อีกตัวแปรหนึ่งคือ ความล้มเหลวในการคว้าตั๋วไปเล่นศึกยูซีแอลไม่ว่าจะปีใดก็ตาม เสี่ยงที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้การถ่ายทอดสดของทีมในระยะสั้น และบ่อยครั้งที่บรรดาสปอนเซอร์มักกำหนดเงื่อนไขสัญญาให้สามารถลดเงินสนับสนุนลงได้ หากสโมสรพันธมิตรไม่ได้ตั๋วไปแข่งถ้วยใหญ่สุดของยุโรป โดย “อาดิดาส” แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่เคยทำเงื่อนไขนี้ในปี 2559

ต้องยอมรับว่า โลกฟุตบอลยุคปัจจุบันเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจไปแล้ว ส่วนในอนาคตต่อจากนี้ หากแมนฯ ยูไนเต็ดภายใต้การคุมทีมของโซลชาร์ สามารถเรียกฟอร์มเก่งและความศรัทธาของแฟนบอลกลับมาได้ ผลตอบรับในเชิงธุรกิจก็อาจกลับคึกคักอีกครั้ง

แต่หากเปลี่ยนกุนซือแล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้นอีก บอร์ดบริหารของทีมและตระกูลเกลเซอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสโมสร อาจต้องทบทวนวิธีการบริหารของตัวเองบ้างเหมือนกัน