สงครามการค้าไม่จบง่ายๆ

สงครามการค้าไม่จบง่ายๆ

เมื่อทรัมป์ พบกับสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในการนัดทานข้าวเย็นร่วมกัน ช่วงระหว่างการประชุม G20 ณ บัวโนไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงพักรบสงครามการค้า 90 วัน เพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาแสวงหาข้อตกลง โดยสหรัฐฯ ยอมเลื่อนการขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน 2 แสนล้านเหรียญ เป็นจำนวน 25% ออกไปก่อน (ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ว่าจะขึ้นภาษี 1 ม.ค.)

แต่ใครอย่านึกว่า สงครามการค้ามีแนวโน้มจะจบลงเรียบร้อยในอีกไม่นานนะครับ ผมเองยังคิดว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในครั้งนี้ น่าจะยังยืดเยื้ออีกนาน ตอนนี้น่าจะเป็นเพียงการพักรบสั้นๆ ครับ

เพราะปัญหาพื้นฐานที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งทางการค้า เป็นปัญหาที่สะสมมานาน และไม่มีท่าทีว่าจะได้รับการแก้ไขได้โดยง่าย ปัญหาพื้นฐานสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ เรื่องการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่รัฐบาลจีนส่งเสริม และการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ซึ่งกลายมาเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ

เมื่อรัฐบาลจีนต้องการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษ เขามีเครื่องมืออุดหนุนหลายอย่างครับ เพราะรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมพื้นฐานและอุตสาหกรรมทุนเข้มข้นหลายอย่าง ทำให้สามารถควบคุมราคาปัจจัยการผลิตได้ ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่รัฐบาลจีนส่งเสริมมีความได้เปรียบกว่าคู่แข่ง

นอกจากนั้น ธนาคารรัฐของจีนยังสามารถปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูก เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่รัฐบาลจีนต้องการส่งเสริมอย่างเต็มที่ นักธุรกิจสหรัฐฯ มักงงว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนระดมทุนจากไหนมากว้านซื้อบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ หรือมาพัฒนา R&D แข่งกับบริษัทสหรัฐฯ

ในสหรัฐฯ ตอนนี้จึงเกิดเป็นกระแสว่าแผน Made in China 2025 ซึ่งจีนตั้งเป้าหมายยกระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี จะทำให้จีนกลายมาเป็นภัยคุกคามสำคัญของสหรัฐฯ

รัฐบาลสหรัฐฯ ออกรายงานประณามจีนในเรื่องพฤติกรรมการ “ขโมย” เทคโนโลยี โดยแจกแจงว่าจีนใช้วิธีหลากหลาย เช่น ให้ธนาคารของรัฐปล่อยเงินกู้ราคาถูกมากว้านซื้อบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ, บังคับให้บริษัทสหรัฐฯ ที่ไปลงทุนในจีนต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีให้หุ้นส่วนจีน ไปจนถึงการที่กองทัพจีนมีการจารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์ เพื่อขโมยความลับทางเทคโนโลยีจากบริษัทสหรัฐฯ (ฝ่ายจีนเองปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ทั้งหมด)

ปัญหาร้องเรียนเหล่านี้มีมายาวนาน ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ แต่มีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามาแล้ว โดยประธานาธิบดีโอบามาเลือกใช้กลวิธีคานอำนาจจีน ด้วยการออกยุทธศาสตร์ “Pivot to Asia” กลับมาให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมทั้งพยายามสร้างกลไกความร่วมมือเขตการค้าเสรี TPP เพื่อมาคานอำนาจจีน และเพื่อออกแบบกฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ (ทั้งหมดนี้ ถูกทรัมป์ฉีกทิ้งทันทีหลังจากขึ้นดำรงตำแหน่ง เพราะบอกว่าจะทำให้โรงงานจำนวนมากย้ายออกจากสหรัฐฯ)

ตัวทรัมป์เลือกเล่นเกมแบบนักเลง คือ ขู่บวกประกาศกร้าวว่าจะทำสงครามการค้า โดยจะขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ใครๆ ก็เห็นว่าน่าจะเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย แต่ทรัมป์เองเชื่อมั่นว่า จีนน่าจะเจ็บตัวมากกว่า และสหรัฐฯ น่าจะทนเจ็บตัวได้นานกว่า

ที่สำคัญ แนวคิดที่ว่าสหรัฐฯ ต้องรีบทัดทานการผงาดขึ้นมาของจีน ได้กลายเป็นความเห็นร่วมของทั้ง 2 พรรคการเมืองในสหรัฐฯ เรียกว่าทั้ง 2 พรรคเห็นตรงกันว่า จีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพียงแต่อาจเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวิธีในการรับมือกับจีน แต่ตอนนี้ก็มีหลายคนชี้ว่า นักการเมืองจากพรรคเดโมแครตจำนวนไม่น้อยพอใจกับเกมนักเลงของทรัมป์ที่ประกาศจะทำสงครามการค้ากับจีน ถ้าจีนยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ หลายคนชี้ว่า ภัยคุกคามสำคัญเป็นเรื่องเทคโนโลยีของจีน เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่มีใครรู้ว่าอาจจะมีวิธีการติดตั้งระบบสอดแนมหรือชิ้นส่วนสอดแนมอะไรไว้หรือไม่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่รายงานของหน่วยความมั่นคงสหรัฐฯ ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของจีน รวมทั้งการที่จีนออกมาช่วยประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล

การที่ทางการแคนาดาจับตัวเมิ่งหวานโจว CFO ของหัวเว่ย ซึ่งเป็นลูกสาวของเริ่นเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย โดยการร้องขอจากสหรัฐฯ ถือเป็นภาพสะท้อนที่ดีว่า สงครามการค้าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของแผนการใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ต้องการทัดทานจีนในเรื่องเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯ อ้างว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างหัวเหว่ยแอบลักลอบขายสินค้าให้อิหร่าน ซึ่งผิดกฎหมายสหรัฐฯ

นักวิชาการในสหรัฐฯ บางคนชี้ว่า ความมุ่งหมายหนึ่งของสงครามการค้าก็คือ ต้องการเร่งให้มีการแยกห่วงโซ่การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ออกจากจีน เพราะถ้ายังเป็นไปตามแนวโน้มในปัจจุบัน ต่อไปในอนาคต สินค้าไฮเทคทุกอย่างคงจะมีสายการผลิตที่จีน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าอาจมีผลกระทบในเรื่องความมั่นคงได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายอย่างมีเทคนิคที่ละเอียดอ่อน เช่น อาจมีการเก็บข้อมูลของลูกค้า โดยที่สุดท้ายจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีจีน (ซึ่งอาจมีรัฐบาลจีนอยู่ข้างหลังก็ได้) เป็นผู้กุมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้

ดังนั้น สงครามการค้าคงจะยืดเยื้อยาวนาน แต่คำถามที่ดูเหมือนจะไม่มีใครตอบได้ก็คือ สงครามนี้จะจบอย่างไร หลายคนยังสงสัยว่า ถ้าเป้าหมายของสหรัฐฯ คือการแยกห่วงโซ่การผลิตด้านเทคโนโลยีออกจากจีน นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงหรือเพ้อฝัน ในเมื่อปัจจุบันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าไฮเทคจะไม่มีชิ้นส่วนที่ Made in China เพราะการผลิตที่จีนต้นทุนถูกและมีห่วงโซ่การผลิตสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพที่สุด

หรือถ้าเป้าหมายของสหรัฐฯ คือต้องการล้มจีน หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าจีนล้ม จะไม่พาลล้มกันไปทั้งโลก (รวมสหรัฐฯ) ด้วยหรือ เพราะปัจจุบันขนาดและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนนั้นมหึมามาก ถ้าเศรษฐกิจจีนพัง คงไม่ได้พังไปคนเดียว แต่พังกันทั้งโลก