จากรายงานของการประชุมบนความย้อนแย้ง

จากรายงานของการประชุมบนความย้อนแย้ง

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การประชุมเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 24 เกินเวลาไปกว่า 24 ชั่วโมง

เนื่องจากตัวแทนของประเทศต่างๆ หาข้อตกลงกันไม่ได้ในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุมเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. การประชุมครั้งนี้มีความย้อนแย้งแบบแรงมาก ตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุมเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการสำหรับลดก๊าซเรือนกระจก เป็นที่ทราบกันดีว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รู้กันในนามภาวะโลกร้อน

การประชุมจัดขึ้นในประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในด้านการผลิตถ่านหินและยังเผาถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่การเผาผลาญถ่านหินก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงมาก ยิ่งกว่านั้น การประชุมครั้งนี้ยังจัดที่ศูนย์การประชุมซึ่งสร้างขึ้นบนกองปฏิกูลและเถ้าถ่านซึ่งเกิดจากการเผาผลาญถ่านหินอีกด้วย

ตามรายงานของสื่อในระหว่างการประชุม มีปรากฏการณ์จำพวกย้อนแย้งที่ค่อนข้างประหลาด หรือคาดไม่ถึงเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น ตัวแทนของรัฐบาลอเมริกันเสนอข้อดีของการใช้พลังงานจากการเผาผลาญฟอสซิล ซึ่งรวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียมและถ่านหิน การกระทำเช่นนั้นอาจมองได้ว่าเป็นการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะสหรัฐเพิ่งแซงหน้ารัสเซียและซาอุดีอาระขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมพร้อมทั้งยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิตและใช้ถ่านหินมากเป็นที่ 2 รองจากจีนเท่านั้น ในขณะเดียวกัน อาจมองได้ว่านั่นเป็นการสะท้อนจุดยืนของรัฐบาลอเมริกัน นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการถอนประเทศออกจากข้อตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอาศ ทั้งนี้ เพราะนายทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าภูมิอากาศของโลกกำลังร้อนขึ้นจากพฤติกรรมของมนุษย์ ข้อตกลงนั้นเพิ่งทำกันเมื่อปี 2558 ณ กรุงปารีส

นอกจากเรื่องดังกล่าว ท่าทีของรัฐบาลอเมริกันยังประหลาดกว่านั้นอีก นั่นคือ ในขณะที่ตนไม่ยอมรับมาตรการใดๆ ที่จะนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกที่กำลังจะตกลงกัน แต่ตนกลับต้องการมีส่วนในด้านการร่างและใช้กฏข้อบังคับเกี่ยวกับความโปร่งใส หรือการตรวจสอบได้ในการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้น ท่าทีของรัฐบาลอเมริกันจึงเป็นที่รังเกียจของชาวโลกแบบแทบทั่วถึง ส่งผลให้จุดยืนของสหรัฐขาดผู้สนับสนุนอย่างกว้างขวาง ต่างกับเมื่อ 3 ปีก่อนในการประชุมที่กรุงปารีส ซึ่งรัฐบาลอเมริกันเป็นตัวจักรสำคัญในการบรรลุข้อตกลง ด้วยเหตุนี้ มาตรการที่ออกมาเมื่อจบการประชุมจึงอ่อนมากเมื่อเทียบกับระดับของความจำซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่า ชาวโลกจะต้องทำเพื่อลดความร้ายแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นั่นหมายความว่า ปัญหาอันเกิดจากภาวะโลกร้อนจะสร้างความเสียหายร้ายแรงมาก รวมทั้งในสหรัฐเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ หน่วยงานของรัฐบาลอเมริกัน 13 แห่งเพิ่งรายงานต่อรัฐสภา เมื่อเดือน พ.ย.ว่า ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนจุดยืน เศรษฐกิจอาจหดหายไปถึงราว 10% เมืองใหญ่ๆ ตามชายฝั่งทะเลจะเสียหายใหญ่หลวงมาก เนื่องจากระดับน้ำทะเลจะขึ้นต่อไปและพายุใหญ่จะเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมืองที่ตั้งอยู่ในระดับต่ำปริ่มน้ำทะเล เช่น ไมแอมี และนิวออร์ลีนส์

ความเสียหายในระดับนั้น ชาวอเมริกันอาจรับได้โดยไม่ถึงกับล่มจม เนื่องจากขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่มากและศักยภาพทางเทคโนโลยีที่สูงยิ่ง แต่หลายประเทศไม่น่าจะรับได้ โดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ทั้งหลายจะจมหายไปในน้ำทะเล รวมทั้งมัลดีฟส์

สำหรับเมืองไทย ความเสียหายอันเกิดจากน้ำท่วมจะเป็นในแนวเดียวกับสหรัฐ เพราะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในระดับปริ่มน้ำทะเลอยู่แล้ว ที่ต่างกับเขาคือ กรุงเทพฯ ใหญ่กว่าไมแอมีและนิวออร์ลีนส์นับสิบเท่า แต่เศรษฐกิจของเราเล็กกว่าของเขามาก หรือราว 7% ของเขาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ผลกระทบเชิงเปรียบเทียบต่อเมืองไทยย่อมสูงกว่าเป็นทวีคูณ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการสร้างเมืองใหม่เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับกรุงเทพฯ และเมืองไทยในแนวที่รัฐบาลในอดีตเคยเสนอ แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวจะให้สร้าง อีกทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ไม่มีข้อเสนอ จึงสรุปได้ว่าส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ จะจมบาดาลเพราะรัฐบาลไม่ทำสิ่งที่ควรทำอย่างเร่งด่วน