ประชุมคกก.บริษัท: ข้อจำกัดที่หน่วยงานรัฐควรต้องแก้ไข***

ประชุมคกก.บริษัท: ข้อจำกัดที่หน่วยงานรัฐควรต้องแก้ไข***

คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนมักได้รับจากลูกความที่เป็นบริษัทข้ามชาติต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่เสมอๆ คือ การประชุมคณะกรรมการบริษัท

สามารถทำการประชุมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การประชุมผ่านทางโทรศัพท์หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ได้หรือไม่ และการประชุมดังกล่าวจะมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งผู้เขียนก็ต้องตอบไปว่าในปัจจุบันบริษัทจำกัดสามารถที่จะจัดประชุมคณะกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 74/2557 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 (ประกาศ คสช.) อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวยังมีข้อจำกัดที่ยังคงเป็นอุปสรรคในทางธุรกิจของภาคเอกชนอย่างมากเนื่องจากประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าวมีเงื่อนไขหลัก 2 ประการที่จะทำให้การประชุมคณะกรรมการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายคือ

(1) ผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมแห่งเดียวกัน และ

(2) ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการประชุม

ประกาศ คสช. ดังกล่าวดูเหมือนจะสร้างให้เกิดความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงคงมีบริษัทน้อยรายที่ได้รับประโยชน์จากประกาศ คสช. ฉบับนี้ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกรรมการของบริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติซึ่งพำนักหรือทำงานกับบริษัทแม่หรือบริษัทในเครืออื่นๆ ที่ต่างประเทศ จึงทำให้กรรมการต่างชาติเหล่านั้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากประเทศที่ตนอยู่ได้ หรือบริษัทเองก็ไม่สามารถจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากมีกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่ในที่ประชุมแห่งเดียวกันน้อยกว่า 1 ใน 3 ขององค์ประชุมตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คสช. ดังกล่าว

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลพยายามให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 และเรากำลังมีการนำระบบ 5G มาใช้ในเร็ววันนี้และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การประชุมหรือการประกอบธุรกิจสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการมานั่งประชุมร่วมกันในสถานที่แห่งเดียวกัน แต่ข้อกฎหมายของบ้านเรายังคงไม่สามารถที่จะพัฒนาเพื่อให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคดิจิตอลได้ จึงทำให้การประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชนมีข้อจำกัดและข้อติดขัดอย่างมาก กล่าวคือ การประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่ละครั้งคณะกรรมการจะต้องมีการมานั่งประชุมร่วมกันในสถานที่แห่งเดียวกันเท่านั้น ซึ่งหากต้องมีการพิจารณาหรือตัดสินปัญหาเรื่องใดเป็นกรณีเร่งด่วน ก็ไม่สามารถที่จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการทางไกล ทางโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ประกอบกับการที่กำหนดให้กรรมการต้องมาประชุมร่วมกันในสถานที่แห่งเดียวกันนั้นเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางและต้องเสียเวลาในการจัดการประชุมและการเดินทางไปร่วมประชุมด้วย

ประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลกำกับการประกอบธุรกิจของบริษัทและภาคเอกชน ควรนำเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบังคับใช้มาเป็นเวลานาน โดยกำหนดให้การประชุมคณะกรรมการบริษัทสามารถจัดให้มีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องผู้เข้าร่วมประชุมต้องอยู่ในราชอาณาจักรหรือกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมที่ต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คสช แต่อย่างใด ซึ่งในต่างประเทศการประชุมคณะกรรมการสามารถทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และยังเปิดกว้างไปถึงการลงมติโดยทำเป็นหนังสือเวียนโดยมิต้องมีการจัดประชุมด้วย

ผู้เขียนยังคงมีความหวังว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยมีการพูดถึงและพยายามจะผลักดันเรื่องดังกล่าวมาในระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนมีความคล่องตัวมากขึ้น และอาจทำให้การจัดอันดับประเทศที่น่าลงทุนของไทยเพิ่มไปอยู่ในอันดับที่ดีขึ้นด้วย

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]

 

*** ชื่อเต็มเรื่อง: การประชุมคณะกรรมการบริษัทจำกัด : ข้อจำกัดที่หน่วยงานรัฐควรต้องแก้ไข Obstacles for Board Meeting

โดย...

สมพร มโนดำรงธรรม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]