จุดเปลี่ยนทะเลไทย

จุดเปลี่ยนทะเลไทย

วันแรงงานข้ามชาติสากล จัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญและการต่อสู้ของแรงงานข้ามชาติ

ที่ทิ้งบ้านมาหางานทำ งานที่ให้รายได้ที่เป็นธรรม ที่มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย ที่สามารถเลี้ยงดูและปกป้องครอบครัว ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศเรียกว่า งานที่มีคุณค่า

วันแรงงานข้ามชาติสากลยังเป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทยกว่า 1 ล้านคน ที่ทำงานอยู่ต่างแดน ในภาคประมงที่ประเทศมาเลเซีย ภาคการเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ภาคการก่อสร้างที่ประเทศกาตาร์ เป็นต้น และเป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ในภาคประมง เกษตรและการก่อสร้าง โดยแรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย จึ่งเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการการเติบโตหรือการอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทยเหล่านี้โดยปราศจากแรงงานข้ามชาติ

ในส่วนของภาคประมงไทย เกือบ 90% ของแรงงาน 60,000 คนที่ทำงานบoเรือประมงพาณิยช์เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากพม่าและกัมพูชา รัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรฐานการทำงานภาคประมงตามอนุสัญญา ไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ที่ว่าด้วยงานในภาคการประมงซึ่งเป็นหนึ่งในอาชีพที่ยากลำบากและอันตรายที่สุดอาชีพหนึ่งในโลก

อนุสัญญาฯ เรียกรองให้มีการจ่ายค่าแรงอย่างสม่ำเสมอ มีสัญญาจ้างงานที่เป็นลายอักษร มีอาหารและน้ำที่เพียงพอและมีการอบรมเรื่องความปลอดภัยให้แก่แรงงานประมง สำหรับประเทศไทย มาตรฐานการทำงานขั้นพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่กฎหมายไทยบังคับอยู่แล้วซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปของรัฐบาลสืบเนื่องจากความสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลกที่มีต่อการละเมิดแรงงานในภาคประมงไทยในปี 2557

จากการตัดสินใจให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานภาคประมง เมี่อเดือน พ.ย.และการรับรองพิธีสารว่าด้วยแรงงานบังคับ เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในภูมิภาค การออกเสียงลงมติเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานภาคประมงนั้น สร้างแรงกดดันให้กับประเทศอินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ที่มีมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลในปีที่แล้ว รวมกันทั้งสิ้น 12 พันล้านดอลล่าร์ ต้องปฎิบัติตามตัวอย่างจากประเทศไทย

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสเป็นผู้นำในที่ประชุมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อแรงงานประมง หรือ Southeast Asia Forum for Fishers ที่จะจัดขึ้นโดย ไอแอลโอ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้างและสหภาพจากประเทศผู้ผลิตอาหารทะเลหลักๆ ของภูมิภาคเข้าร่วมการประชุมเพื่อลดและขจัดแรงงานบังคับในภาคประมง

การตัดสินใจให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานภาคประมงของประเทศไทยยังส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้กับรัฐบาลของประเทศพม่าและกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของแรงงานประมงนับหมื่นคนที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องการจ้างงาน ว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้งานในภาคประมงเป็นงานที่มีคุณค่า

ความมุ่งมั่นนี้มีความหมายสำคัญยิ่งกว่าการออกกฎระเบียบต่างๆ โดยสิ่งที่สำคัญอันดับต่อไปคือ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งและคงเส้นคงวา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อแรงงานข้ามชาติสามารถรวมตัวจัดตั้งกลุ่มและต่อรองกับนายจ้างได้ การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีต่อแรงงานและชื่อเสียงของอุตสาหกรรมไทยไปทั่วโลก และยังมีประโยชน์ต่อเจ้าของเรือประมงผู้ที่ปฎิบัติตามกฎระเบียบ โดยก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างยุติธรรมในภาคอุตสาหกรรม

วันแรงงานข้ามชาติสากล สำหรับประเทศไทยในปีนี้ มีความสำคัญยิ่งกว่าการเป็นวันของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกหรือมาจากที่ใดก็ตามที่เรียกว่าบ้าน แต่เป็นวันที่พวกเราทุกคนควรคิดว่า แรงงานและความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับพวกเราทุกคนอย่างไร

[ความคิดเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวและมิใช่ท่าทีของ ไอแอลโอ หรือประเทศสมาชิกหรือไตรภาคี]

โดย... 

แกรม บัคลี่

ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป. ลาว

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)