คิดกลยุทธ์ให้แตก แหวกกฎเดิมๆ

คิดกลยุทธ์ให้แตก แหวกกฎเดิมๆ

ทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง คือ เรื่องของการคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic thinking

ซึ่งองค์กรชั้นนำจำนวนมากต่างให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในทักษะหรือวิธีการคิดที่ยากที่จะสอนในรูปแบบของการอบรมและพัฒนาแบบดั้งเดิม ดังนั้น องค์กรจำนวนมากที่ระบุเรื่องของการคิดเชิงกลยุทธ์ไว้ในทักษะหนึ่งของผู้บริหาร จึงต่างพยายามแสวงหาแนวทางในการเสริมสร้างให้ผู้บริหารของตนมีทักษะในด้านนี้

อย่างไรก็ดี การจะคิดเชิงกลยุทธ์ให้ได้ดีนั้นยังมีระดับขั้นที่แตกต่างกันไปอีก โดยแบ่งเป็นสองระดับ ระดับแรกเป็นแบบดั้งเดิม ระดับที่สองเป็นแบบแหวกกฎเดิมๆ จะพบว่า ผู้บริหารบางท่านมีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นนักกลยุทธ์หรือ Strategist ที่ดี แต่กลยุทธ์ที่คิดได้ส่วนใหญ่นั้นจะยังหนีไม่พ้นกรอบหรือกฎเกณฑ์เดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเติบโตในรูปแบบเดิมๆ เช่น การจับคู่กันของ สินค้าเก่า สินค้าใหม่ ตลาดเดิม และตลาดใหม่ เป็นต้น หรือ การพยายามที่จะสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าหรือบริการตนเองจากคู่แข่งขัน โดยการเพิ่มมูลค่าในด้านต่างๆ เข้าไป ซึ่งทักษะในการคิดเชิงกลยุทธ์ในรูปแบบข้างต้น ถือว่าเป็นแบบดั้งเดิม

สำหรับทักษะในระดับที่สองที่เป็นแบบแหวกกฎนั้น เป็นการคิดในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นการแหวกกฎเกณฑ์เดิมๆ ที่มีอยู่ ซึ่งผู้บริหารเหล่านี้ย่อมจะสามารถคิดกลยุทธ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำหรือลอกเลียนแบบจากคู่แข่งขันที่มีอยู่ ลองมาดูวิธีการคิดของผู้บริหารกลุ่มหลังดูนะครับ เผื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการฝึกฝนวิธีการคิดในเชิงกลยุทธ์ของท่านผู้อ่านเอง

เริ่มจากการไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์ รูปแบบ และวิธีการเดิมๆ ของการทำธุรกิจและการแข่งขันในอุตสาหกรรม โดยที่นักคิดกลยุทธ์แบบดั้งเดิมจะยึดติดกับสภาพของอุตสาหกรรมหรือตลาดที่เป็นอยู่ และการคิดกลยุทธ์ก็จะออกมาภายใต้รูปแบบและโครงสร้างเดิมๆ พวกที่คิดแบบแหวกกฎจะไม่ยอมให้รูปแบบ โครงสร้าง กฎเกณฑ์ หรือวิธีการในการแข่งขันต่างๆ ที่มีอยู่มาใช้ในการกำหนดกรอบในการคิดเชิงกลยุทธ์ และมักจะชอบตั้งคำถามที่ท้าทายต่อกรอบและโครงสร้างเดิมๆ อาทิเช่น ทำไมธนาคารต้องตั้งอยู่กับที่ ไม่สามารถเคลื่อนที่ตามลูกค้าไปได้? หรือ ทำไมมหาวิทยาลัยถึงยังจำเป็นสำหรับการศึกษาเพื่อเตรียมเข้าสู่ชีวิตการทำงาน? เป็นต้น

วิธีการที่ง่ายและรวดเร็ววิธีการหนึ่งเพื่อให้สามารถคิดแหวกกฎเกณฑ์เดิมๆ คือการนำเอา Business Model จากอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นๆ มาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารจะต้องเปิดใจยอมรับ และพร้อมจะเรียนรู้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ก่อน

ในปัจจุบันเรามีตัวอย่างของ Business model ที่แปลกและประสบความสำเร็จอยู่หลากหลายประการ และถ้าสามารถดัดแปลง Business model เหล่านั้นมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมของตนเองได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดนอกกรอบและโครงสร้างเดิมๆ ลองคิดดูว่าจะ นำ Low cost model ที่ประสบความสำเร็จในสายการบินต้นทุนต่ำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นได้อย่างไร? เช่น จะสามารถดัดแปลง Low cost model มาใช้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างไร?

ประเด็นสำคัญสำหรับนักคิดแบบแหวกกฎนั้น พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องของการแข่งขันและการเอาชนะคู่ต่อสู้ บางคนจะไม่เชื่อในเรื่องของการได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือ Competitive Advantage ด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ถ้าองค์กรมุ่งเน้นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการเอาชนะคู่ต่อสู้แล้ว สุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นการติดตาม และ Benchmark ตนเองกับคู่แข่งตลอดเวลา สุดท้ายสินค้า บริการ หรือ แม้กระทั่งกลยุทธ์ของบริษัทต่างๆ ก็จะไม่ต่างกัน แต่คนเหล่านี้จะเน้นในเรื่องของนวัตกรรม ความคิดใหม่ๆ ในเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นการแหวกกฎเดิมๆ ที่มีอยู่ ยิ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาแสวงหา

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดู ว่าท่านมีทักษะในการคิดเชิงกลยุทธ์ในรูปแบบใด ระหว่างรูปแบบดั้งเดิม กับ รูปแบบที่แหวกกฎ