เครื่องมือพยากรณ์อนาคตแบบมองย้อนหลัง

เครื่องมือพยากรณ์อนาคตแบบมองย้อนหลัง

ในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจในระดับบริษัท จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการการมองอนาคตของบริษัท

จะต้องคาดการณ์หรือพยากรณ์อนาคตทางธุรกิจให้กับบริษัทด้วยระดับความแม่นยำที่เหมาะสมกับความต้องการและความทะเยอทะยานที่กำหนดไว้ โดยวิสัยทัศน์ของบริษัท เพื่อให้กลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการไปได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

เทคนิคหรือกระบวนการการมองอนาคต หรือที่มักเรียกกันว่า “Foresight” เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรภาครัฐ นิยมนำมาใช้เพื่อสร้างฉากภาพ หรือ ฉากทัศน์ ในอนาคต อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากจะทำให้ได้ภาพในอนาคตที่เชื่อว่า มีประสิทธิภาพมากกว่ากระบวนการการพยากรณ์อนาคตที่ได้คิดค้นกันมาในโลกยุคศตวรรษที่ 20

ทั้งนี้ เนื่องจาก พัฒนาการต่างๆ ในโลกล้วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผันผวน และทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพฤติกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และ การเผชิญปัญหาใหม่ๆ ที่มนุษย์ไม่เคยเจอมาก่อน

เครื่องมือตัวหนึ่งที่นำมาใช้ในกระบวนการมองอนาคตแบบ Foresight ที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากเทคนิคการพยากรณ์ที่ต้องอาศัยข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ แล้วลากเส้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ต่อเลยออกไปเพื่อคาดการณ์อนาคต โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เหตุการณ์ในอดีต จะสามารถสะท้อนภาพในอนาคตได้ พื้นฐานในลักษณะนี้จะเห็นได้ว่า อาจไม่เป็นจริงได้ในโลกยุคปัจจุบันนี้

เครื่องมือที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า Backcasting หรือ เทคนิคการพยากรณ์แบบมองย้อนหลัง

เทคนิคนี้ มีพื้นฐานแนวคิดว่า การพยากรณ์อนาคตที่แม่นยำ จะเกิดขึ้นได้จากการกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการในอนาคตขึ้นมาก่อนให้ชัดเจน แล้วค่อยย้อนกลับมาดูว่า แนวทางและความเป็นไปได้ในการบรรลุอนาคตที่ต้องการนั้น จะต้องทำอย่างไร

ในการใช้เทคนิค Backcasting จะเน้นการใช้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้เสีย และสมาชิกทุกคนที่อยู่ในองค์กร มาร่วมกันกำหนดเป้าหมายในอนาคต และกลยุทธ์ทางเลือกที่เป็นไปได้เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ในลักษณะของกระบวนการแบบมีส่วนร่วม

โดยในขั้นตอนของการร่วมกันกำหนดภาพอนาคตและกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย จะต้องคำนึงถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกองค์กรมาประกอบ เพื่อพิจารณาเส้นทางจากอนาคตที่ปรารถนากลับมายังสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ได้จุดเริ่มต้นและเส้นทางที่จะนำพาองค์กรไปสู่อนาคตที่ชัดเจนได้

นอกจากนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสื่อความและสื่อสารให้กับทุกคนในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสีย ได้เห็นวิสัยทัศน์อนาคตร่วมกันเป็นภาพเดียวกัน พร้อมทั้งมีแผนการขับเคลื่อนสู่อนาคตร่วมกันอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นกิจลักษณะและเป็นฉันทามติ ป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนการนำแผนกลยุทธ์มาแปลงเป็นแผนปฏิบัติการ

เทคนิค Backcasting สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการกำหนดกลยุทธ์ในภาคธุรกิจเอกชน ทำให้สามารถมองภาพอนาคตได้ทั้งในระดับมหาภาค และระดับอุตสาหกรรม โดยมักนิยมใช้ในการมองอนาคตระยะเวลาไม่เกิน 50 ปี

กระบวนการในการทำ Backcasting มักจะเริ่มจากการกำหนดประเด็นและกรอบระยะเวลาของภาพอนาคตที่ปรารถนาให้ชัดเจน แล้วจึงคัดเลือกผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่จะเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจแบ่งผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มย่อย 4-6 คน ทำงานร่วมกันในลักษณะระดมสมองเพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ในปัจจุบัน กับภาพอนาคตที่ต้องการสร้างให้เกิดขึ้น ใน 3 ประเด็น คือ

  1. ด้านการกำหนดนโยบายหรือปรับปรุงนโยบายปัจจุบันให้สอดคล้องกับฉากภาพอนาคต
  2. ด้านบริบทสภาพแวดล้อมทั้งในระดับธุรกิจ ระดับประเทศ และระดับโลก
  3. ด้านระบบ และกลไกการปฏิบัติงาน รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร ที่จะสอดคล้องกับอนาคตที่พึงประสงค์

เมื่อเสร็จกระบวนการระดมสมองแล้ว กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มจะนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มต่อกลุ่มอื่นๆ แล้วสรุปผลลัพธ์ของการมองอนาคตแบบย้อนกลับ ในแง่มุมที่สำคัญ เช่น เหตุการณ์ในอนาคตที่สำคัญ 3-4 เหตุการณ์ที่จะชี้บ่งว่าเรากำลังเดินทางสู่อนาคตได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ จะต้องมีการระบุสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาที่จะนำไปสู่เป้าหมาย รวมถึงการวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา แล้วจัดวางเหตุการณ์สำคัญ และสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้สำเร็จลงในแผนภูมิเส้นเวลา (Timeline)

ผลลัพธ์ของ Backcasting จะปรากฎขึ้นเป็นแผนภูมิที่จะนำไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ที่สามารถนำไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการในระดับแผนกหรือฝ่ายต่างๆ ขององค์กรได้

--------

หมายเหตุ..ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม (IFI) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)