จะปฏิรูปความรู้ ความคิดอ่านของคนไทยกันอย่างไร

จะปฏิรูปความรู้ ความคิดอ่านของคนไทยกันอย่างไร

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในรอบปี 2561 นี้คือ ปัญหาที่ไทยมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทั้งทางทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ฐานะทางสังคม

ระหว่างคนรวยส่วนน้อย และคนจนส่วนใหญ่ และปัญหาความขัดแย้ง ความด้อยพัฒนาทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในหลายด้าน ปัญหาเหล่านี้ควรจะมองอย่างเชื่อมโยงเป็นภาพรวมว่ามาจากปัญหาพื้นฐานเชิงรากเหง้า 2 เรื่องใหญ่คือ

  1. ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองแบบกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยมผูกขาดที่คนชั้นสูงส่วนน้อยมีอำนาจและความมั่งคั่งสูงกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจน ได้รับการศึกษาและข่าวสารที่มีคุณภาพน้อยคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล อย่างมีหลักฐานข้อมูลยืนยันไม่ค่อยเป็น
  2. วัฒนธรรมแบบศักดินาหรือเจ้าขุนมูลนายที่คนชั้นผู้ปกครองครอบงำให้ประชาชนยกย่องศรัทธา รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณชนชั้นผู้ปกครอง ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิหน้าที่ของพลเมือง ฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นสูง แบบหวังพึ่งอำนาจการอุปถัมภ์ตามนโยบายแบบประเพณีนิยมและประชานิยมแบบหาเสียงระยะสั้น

ปัญหาเชิงโครงสร้าง 2 ข้อนี้เปิดทางให้รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการยึดอำนาจของพวกทหาร บริหารประเทศเพื่ออำนาจผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาความขัดแย้งและอื่นๆ มากขึ้น และพัฒนาทางสังคมได้ล้าหลังกว่าหลายประเทศ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังถูกหลอกล่อโดยทุกรัฐบาลให้เชื่อว่ารัฐบาลกำลังพัฒนาประเทศให้เจริญเติบโตและประชาชนจะพ้นความยากจนในไม่กี่ปีข้างหน้า

แนวคิดแบบจารีตนิยม อุปถัมภ์นิยม และอำนาจนิยมผ่านวิธีการเลี้ยงดูเด็ก การสร้างทัศนคติของคน ชุมชน ระบบการศึกษา สื่อมวลชน และการให้ข่าวสารของภาครัฐและธุรกิจเอกชน ทำให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่มีทัศนคติแบบจำนน เชื่อในเรื่องบุญบารมีวาสนา เช่น เชื่อว่าการจัดฐานะทางชนชั้น/กลุ่มทางสังคมที่แตกต่างกันมากนั้น ถูกกำหนดมาแล้วอย่างตายตัว หรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก คนไทยส่วนใหญ่มองตัวเองเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ต้องพึ่งคนมีตำแหน่ง มีอำนาจ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วในทุกรัฐหรือทุกประเทศประชาชนคือพลเมืองผู้ทำงานการผลิตเสียภาษีและเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติสาธารณะของประเทศร่วมกัน และพลเมืองทุกคน (ไม่ว่าจะจนหรือมีระดับการศึกษาต่ำแค่ไหน) ควรจะได้มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในด้านโอกาสอย่างทัดเทียมกัน ไม่ควรมีพลเมืองคนใดมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ ทั้งสิ้น

พลเมืองไทยจะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้อย่างมีคุณภาพชีวิตได้ จะต้องปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนจากการสอนแบบเน้นการท่องจำและการฝึกทักษะวิชาชีพ เป็นการสอนให้คนคิดเป็น มีแนวคิดเสรีนิยม/เสรีประชาธิปไตย วิพากษ์วัฒนธรรมเก่าที่ยกย่องอภิสิทธิ์ชนได้อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่แค่โจมตีคนมีอภิสิทธิ์และมีอำนาจเพียงเพื่อตัวเองจะได้แย่งอภิสิทธิ์, อำนาจมาเป็นของตน หากแต่ต้องพยายามช่วยกันสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนควรมีสิทธิเสมอภาคในทางโอกาส อย่างแท้จริง

ที่สำคัญคือต้องปฏิรูปครูอาจารย์ให้มีแนวคิด, พฤติกรรม แบบนักเสรีประชาธิปไตยจริง เลิกการใช้อำนาจสิทธิ์ขาดของครูอาจารย์ ซึ่งยึดตามตำราและการออกข้อสอบแบบท่องจำ เปลี่ยนมาสอนแบบเป็นผู้ชี้แนะ, ผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้โดยผู้เรียน ให้สิทธิ เสรีภาพ ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง เป็นตัวของตัวเอง ภูมิใจในตนเอง คิดวิเคราะห์สังเคราะห์เป็น ตระหนักว่าคนเรามีหรือควรมีสิทธิเสมอภาค เสรีภาพเสมอกัน สังคมจึงจะพัฒนาไปอย่างสมดุล เป็นธรรม เข้มแข็ง และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงเผด็จการของสส.เสียงข้างมาก หากหมายถึงระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิและโอกาสทัดเทียมกัน รัฐบาลต้องบริหารประเทศโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค, ความมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และความยั่งยืน ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว ไม่ใช่บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของเจ้าที่ดินและนายทุนทั้งต่างชาติ, ในชาติ ที่เป็นคนกลุ่มน้อย

การจะสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมได้ ประชาชนที่มีการศึกษา/ตื่นตัว จะต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ ผ่านทั้งทางการศึกษาในระบบและนอกระบบ เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่ออื่นๆ รายการทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ซึ่งคนจะเข้าถึง, รับได้ง่ายกว่าการให้การศึกษาทางตรง

  แนวคิดหลักในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย

1.ส่งเสริมให้ประชาชนคิดอย่างมีเหตุผลอย่างมีหลักฐาน ประจักษ์พยาน มากกว่าจะเชื่อด้วยอารมณ์เคารพในตัวเอง และเคารพคนอื่นด้วย ยอมรับเรื่องสิทธิหน้าที่พลเมืองของประชาชนคนอื่น ๆไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น เคารพและให้ความร่วมมือต่อศีลธรรม, ประเพณีและกฎหมายที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ร่วมกันของส่วนรวม (ประเพณี,กฎหมายที่ล้าหลัง,ไม่เป็นธรรม ย่อมถูกวิจาร์ณและแก้ไขได้)

2.ทัศนคติที่ดีและความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกันร่วมมือสามัคคีเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเพื่อใครก็ตามที่เรายกย่องคนใดคนหนึ่ง เพราะการทำเพื่อส่วนรวมมีประโยชน์จริงต่อทุกคนในสังคมในระยะยาวมากกว่า

3.รักชาติแบบเข้าใจความจำเป็นและประโยชน์ของการเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นพลเมืองของชุมชนและประเทศเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทุกคนในระยะยาวคือเห็นแก่ประโยชน์ชุมชน ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าตน ไม่ใช่การหลงชาติ ดูถูกเผ่าพันธุ์อื่น

4.เคารพกฎหมายที่มีเหตุผลและเป็นธรรมถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม ต้องวิจารณ์ อภิปราย เสนอแนะ ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรม ไม่ใช่เลี่ยงหรือทำผิดกฎหมาย ยึดมั่นในหลักการสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคสำหรับคนทุกคน และถือว่าระบบอภิสิทธิ์และการเล่นพรรคเล่นพวก การทุจริตฉ้อฉล/หาประโยชน์ทับซ้อนของทุกกลุ่มการเมือง, ไม่ว่าสีใด เป็นเรื่องที่ผิด น่ารังเกียจ ทำให้ส่วนรวมเสียหายที่จะต้องถูกกำจัด

5.มีจิตใจเสรีประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและเป็นธรรมไม่ยึดติดกับความคิด ความเชื่อแบบใดแบบหนึ่งตายตัว มองว่าสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปได้ตามเหตุและปัจจัยสภาพแวดล้อม ทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบ มองตัวเองและคนอื่นอย่างเป็นธรรม และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้น เป็นธรรม สวยงาม และยั่งยืน

6.มีความรับผิดชอบผูกพันกับสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป และอธิบายความชอบธรรมอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ (Accountability)ไม่ปัดความรับผิดชอบให้คนอื่น ดีแต่โทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น

7.มีจิตใจแบบรักความเป็นธรรม มีเมตตา กรุณา มุทิตา เห็นใจเพื่อนร่วมประเทศ เพื่อนร่วมโลกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจเขามาใส่ใจเราแบบพี่แบบน้อง ใจกว้าง ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ความเชื่อ คิดหาทางออกอย่างสร้างสรรค์แบบให้ทุกฝ่ายมีส่วนชนะร่วมกันได้มากกว่าการคิดแบบเอาชนะแพ้กันแง่เดียว หรือคิดถึงทางเลือกที่ 3 ที่ 4 ได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกข้างกลุ่มชนชั้นนำหรือแนวทางการพัฒนาประเทศแบบสุดโต่งขั้วใดขั้วหนึ่ง