'ปราบสินบน' ปัญหาที่ชาติส่งออกเอเชียมองข้าม

'ปราบสินบน' ปัญหาที่ชาติส่งออกเอเชียมองข้าม

ปัญหาการทุจริต เช่น การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย

รายงานล่าสุดขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) ชี้ว่า บรรดาประเทศส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเอเชียแทบไม่ใส่ใจให้บริษัทในประเทศรับผิดต่อการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ

รายงานความคืบหน้าว่าด้วยการทุจริตในการส่งออกประจำปี 2561 ขององค์กรนอกภาครัฐที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ระบุว่า 5 ประเทศและ 1 ดินแดนของเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง "แทบไม่ดำเนินการหรือละเว้น" การบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทที่ต้องสงสัยว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนั้น ผู้ส่งออกเหล่านี้ยังแทบไม่ดำเนินคดีพลเมืองของตนที่ต้องสงสัยว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างแดน

รายงานของทีไอประเมินว่าภาคีสมาชิกอนุสัญญาการต่อต้านการติดสินบนที่ตั้งขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ปราบปรามคดีการติดสินบนมากน้อยเพียงใด โดยมีระดับการบังคับใช้กฎหมาย 4 ระดับ ได้แก่ เข้มงวด (active) ปานกลาง (moderate) วงจำกัด (limited) และ น้อยหรือไม่มีเลย (little or no)

ในปีนี้ ทีไอประเมินภาคีสมาชิกอนุสัญญาดังกล่าวทั้งหมด 40 ราย เช่นเดียวกันกลุ่มนอกอนุสัญญาฯ อย่างอินเดีย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง

บรรดาผู้ส่งออก 7 รายนอกภูมิภาค รวมถึงสหรัฐ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากที่สุดเกี่ยวกับการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวอย่างเช่น สหรัฐเริ่มสอบสวนคดีติดสินบน 73 คดีในช่วง 4 ปีจนถึงปี 2560 ในขณะที่เกาหลีใต้สอบสวนเพียง 1 คดี และญี่ปุ่นรวมถึง 4 ประเทศนอกอนุสัญญาฯ ไม่มีการสอบสวนเรื่องนี้เลย

การคอร์รัปชันยังคงกัดกินเศรษฐกิจเอเชียเกิดใหม่หลายแห่ง ทำให้บรรดาบริษัทข้ามชาติประสบความยากลำบากในการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจจงใจขัดขวางกระบวนการตรวจสินค้า และเสนอว่าจะเร่งกระบวนการให้หากยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะ

ทีไอคาดว่า จำนวนเงินสินบนที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐรวมกันทั่วโลก อาจสูงกว่า 8.83 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว

บางประเทศที่มีอันดับการบังคับใช้กฎหมายต่ำที่สุด มีกรอบกฎหมายในการติดตามการติดสินบนรูปแบบนี้ แต่นำมาใช้น้อยมากหรือไม่เคยใช้เลย อย่างญี่ปุ่นมีกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรม แต่แทบไม่มีการดำเนินคดีอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากขาดแคลนเจ้าหน้าที่สอบสวนและบังคับใช้กฎหมาย

“คุณอาจบอกได้ว่า ญี่ปุ่นหย่อนยานเรื่องการติดสินบนมากที่สุด เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล” โฆษกของทีไอญี่ปุ่น เผยกับนิคเกอิ เอเชียน รีวิว

ทาดาชิ คูนิฮิโระ ทนายความซึ่งเชี่ยวชาญประเด็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบ กล่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องแจ้งกับพนักงานของตนว่า พวกเขาจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการติดสินบนอย่างเคร่งครัด

บรรดาผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น แนะว่า วิธีการที่ดีในการหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ฉ้อฉลได้ คือการขอใบเสร็จชำระเงิน หรือทำลำดับเวลาการขนส่งสินค้าที่ระบุชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามเกียร์ว่าง

“เมื่อคุณถูกจับได้ว่าจ่ายเงินใต้โต๊ะ บริษัทของคุณและลูกจ้างไปจนถึงครอบครัวของคุณ จะเดือดร้อนกันหมด” อากิ วากาบายาชิ ประธานทีไอญี่ปุ่น กล่าว และว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องฝึกอบรมลูกจ้างที่ประจำในต่างประเทศ ให้รู้ เข้าใจกฎหมายและกฎระเบียบล่าสุด และเรียนรู้วิธีการปฏิเสธข้อเสนอติดสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ”