การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ในอาเซียน

การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ในอาเซียน

“การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่” (breastfeeding) สำหรับทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรกสำคัญไม่แพ้ความรักและการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว

น้ำนมแม่เป็นแหล่งรวมสารอาหารจำเป็นที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ ให้แก่ทารกแรกเกิด ซึ่งประชาคมอาเซียนก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าวในฐานะที่เป็นประเด็นด้านความมั่นคงทางโภชนาการในภูมิภาค (Nutrition Security) ที่กำหนดว่าการยับยั้งสถานการณ์การขาดสารอาหารไปพร้อมกับการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมด้านสุขภาพที่ดีให้แก่เด็กแรกเกิดเป็นส่วนหนึ่งของวาระการพัฒนาสุขภาพหลังเปิดประชาคมอาเซียน (ASEAN Post 2015 Health Development Agenda) ระหว่างปี 2559-2563

ในรอบปีที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้ให้ความสนใจกับเรื่อง “การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่” อย่างมาก อาทิ ในปี 2560 รัฐบาลเวียดนามผลักดันให้เกิดธนาคารจัดเก็บน้ำนมแม่ (human milk bank) แห่งแรกขึ้นที่โรงพยาบาลแม่และเด็กในเมืองดานังเพื่อให้บริการแก่ทารกแรกเกิดที่เสี่ยงต่อการได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอซึ่งมีจำนวนประมาณ 3,000-4,000 คนต่อปี เช่นเดียวกับรัฐบาลสิงคโปร์ที่ก่อตั้งโครงการธนาคารน้ำนมแม่เป็นแห่งแรกที่โรงพยาบาลแม่และเด็กในปีเดียวกันโดยใช้เป็นศูนย์กลางรับบริจาคน้ำนมแม่ที่ได้มาตรฐานผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขมีความปลอดภัยและพร้อมให้บริการแก่เด็กแรกเกิดที่รับน้ำนมจากแม่ไม่เพียงพอ

ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของน้ำนมแม่เป็นลำดับต้นๆของอาเซียน รัฐบาลริเริ่มนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เด็กแรกเกิดได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ เช่น นโยบายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตลาดเกี่ยวกับการขายนมผง (ปี 2529) และพระราชบัญญัติการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (ปี 2535) ภาคประชาชนก็ตื่นตัวไม่น้อยต่อการรณรงค์ส่งเสริมการให้น้ำนมแม่ ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม่ชาวฟิลิปปินส์กว่า 1,500 คน ออกมารวมตัวกันให้นมลูกกลางกรุงมะนิลา เพื่อแสดงออกถึงความสำคัญของการให้น้ำนมแม่แก่ลูกแทนการเลี้ยงลูกด้วยนมผง

อย่างไรก็ตามรายงานขององค์การยูนิเซฟระบุว่า แม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากยังไม่ทราบถึงคุณค่าของน้ำนมแม่ที่เด็กแรกเกิดควรได้รับจึงเลือกที่จะให้นมผงแทน ส่งผลให้เด็กแรกเกิดจำนวนมากไม่ได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ ยิ่งกว่านั้นยังขาดความเข้าใจว่าการบริโภคนมผงทำให้ร่างกายของเด็กเสียสมดุลจากปริมาณสะสมของโซเดียมในเลือดสูงและปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่ในเลือดที่ต่ำเกินไป ซึ่งอาจทำให้เด็กมีสติปัญญาบกพร่องในระยะยาว มีโรคแทรกซ้อนและอาจถึงแก่ชีวิตได้ในบางราย

องค์การยูนิเซฟรายงานเพิ่มเติมว่า เด็กแรกเกิดชาวอินโดนีเซียปีละมากกว่า 2,500,000 คน ไม่ได้รับน้ำนมแม่ที่เพียงพอต่อภูมิคุ้มกันของเด็กขวบปีแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว เนื่องจากได้รับข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กแรกเกิดของภาคธุรกิจที่โฆษณาชวนเชื่อสินค้าประเภทนมผงว่าสำคัญต่อเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี ส่งผลให้หน่วยงานด้านสุขภาพและสิทธิเด็กทั้งองค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และเครือข่ายการดำเนินงานอาหารทารกนานาชาติ (International Baby Food Action Network:) ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลอินโดนีเซียออกนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

ในกรณีของกัมพูชา ความยากจนยังเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่จะต้องทำงานอย่างหนักจนมีปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงลูกและจำเป็นต้องใช้นมผงเป็นส่วนผสมร่วมกับน้ำนมของแม่ ในขณะที่หลายกรณีแม่ชาวกัมพูชาเลือกที่จะไม่ไปทำงานนอกบ้าน แต่หันมาขายน้ำนมตนเองให้กับบริษัทรับซื้อนมแม่จากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายบริษัทเอกชน สร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาและองค์การยูนิเซฟมีความพยายามร่วมกันในการออกมาตรการเพื่อยุติธุรกิจดังกล่าวควบคู่กับแก้ไขปัญหาการค้าอวัยวะและการอุ้มบุญโดยมองว่าน้ำนมแม่เป็นสินค้าที่มาจากร่างกายของมนุษย์ (A product comes from a human organ)

เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติในด้านพัฒนาการที่สมบูรณ์ของทารกแรกเกิด อาเซียนและชาติสมาชิกยังคงต้องดำเนินนโยบายภาครัฐที่จริงจังควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของ “การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่” ร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติ เช่นกองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (United Nations Population Fund : UNFPA) ซึ่งไม่นานมานี้ได้ออกคู่มือฝึกอบรมและรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับทักษะในการดูแลเด็กแรกเกิด (Skilled Birth Attendants: SBA) เพื่อนำมาปรับใช้ในภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกันโดยคู่มือฉบับนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการสานสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกที่เกิดขึ้นในช่วงการให้นม (skin-to-skin contact) รวมถึงคุณประโยชน์ของน้ำนมให้แก่ผู้เป็นแม่ สมาชิกในครอบครัว และภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบต่อไป

โดย...

กุลระวี สุขีโมกข์

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch)

ฝ่าย 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)