สหรัฐ - จีน สู่บริบท แห่งสงครามไซเบอร์

สหรัฐ - จีน สู่บริบท แห่งสงครามไซเบอร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่สวนทางกันโดยสิ้นเชิง หนึ่งคือการเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐ - จีน

สองคือการจับกุมบุตรสาวของผู้ก่อตั้งหัวเหว่ยโดยแคนาดาเพื่อส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐ

แม้ข้อกล่าวหาจะเกี่ยวกับการละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ข่าวคราวที่ถูกนำเสนอกลับสะท้อนถึงข้อกังขาที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่รัฐบาลในหลายประเทศมีความกังวลหรือต่อต้านอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ติดตั้งโดยหัวเหว่ย โดยรวมไปถึง 5 จี

ความกังวลส่วนใหญ่มาจากข้อสันนิษฐานที่ว่ารัฐบาลจีนสามารถสั่งหัวเหว่ยให้ควบคุมอุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อการจารกรรมหรือเพื่อก่อสงครามทางไซเบอร์

ทั้งหมดนี้เป็นข้ออ้างของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ยังไม่มีหลักฐาน แต่ที่สำคัญอาจเป็นการสร้างกระแสทางการเมืองเพื่อสงครามทางการค้าโดยการสร้างภาพให้ฝ่ายตรงข้ามดูขาดจริยธรรมหรือขาดความชอบธรรมในการดำเนินธุรกิจ

ข้อได้เปรียบของสหรัฐคือการเป็นเจ้าของสื่อที่ทรงอิทธิพลและการเป็นเจ้าของภาษากลาง (Lingua Franca) ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างนานาอารยประเทศ ยิ่งไปกว่านี้ เราคงต้องยอมกันด้วยว่าภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้มีอิทธิพลไม่มากก็น้อยในการสร้างภาพให้สหรัฐกลายเป็นชาติวีรบุรุษของโลก

ความเป็นดราม่าระดับโลกนี้ กำลังกลบเกลื่อนปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์อีกด้านหนึ่งที่มีความร้ายกาจไม่แพ้กัน และอาจได้มีผลเสียที่ได้เกิดขึ้นจริงไปเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญกำลังเป็นข้อกล่าวหาที่ธุรกิจสัญชาติสหรัฐกำลังเผชิญจากทั้งภายในประเทศของตัวเองและจากสหภาพยุโรป

นั่นก็คือ วิกฤติการณ์ของเฟสบุ๊ค ที่ได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ โดยเฟสบุ๊คกำลังถูกทั้งข้อกล่าวหาและคดีความติดพันอยู่ในหลายประเทศ อันเนื่องมาจากนโยบายในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของเฟสบุ๊คและการนำข้อมูลส่วนบุคคลบุคคลของลูกค้าเฟสบุ๊ค 87 ล้านคนไปใช้อย่างมิได้รับอนุญาตโดย เคมบริดจ์ อนาไลติกา

วิกฤติการณ์ของเฟสบุ๊ค ไม่เพียงแต่จะมีผลเสียและความผิดที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว แต่การสืบสวนโดยรัฐบาลสหรัฐและสหภาพยุโรปกำลังมุ่งเป้าไปสู่การรับรู้และการมีส่วนโดยผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร

ในขณะจีนกำลังทรงอิทธิพลด้านฮาร์ดแวร์ซึ่งรวมไปถึงอุปกรณ์โทรคมนาคมและหรือดาต้าเซ็นเตอร์ แต่สหรัฐคือผู้มีอิทธิพลทางด้านซอฟต์แวร์ซึ่งรวมไปถึงโซเชียลมีเดียเช่นเฟสบุ๊คและเสิร์จเอนจิ้นเช่นกูเกิล

ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ดังกล่าว ล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางไซเบอร์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความมั่นคงไซเบอร์

ความแข็งแกร่งของ สหรัฐ - จีน คือการพึ่งพา ฮาร์ดแวร์ - ซอฟต์แวร์ ที่ผลิตในประเทศ ทั้งยังสามารถครอบงำโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์ในประเทศอื่น

แต่สำหรับประเทศอื่น รวมทั้งประเทศไทย กลับไม่มีทางเลือก และต้องอาศัยเทคโนโลยีจากสหรัฐ - จีน ทั้งสิ้น

ทั่วโลกกำลังจับตามอง สงครามไซเบอร์และการชิงดีชินเด่นระหว่าง สหรัฐ - จีน แต่ที่สำคัญ บางประเทศเช่นในสหภาพยุโรป ได้ตอบโต้เพื่อทางคืนอธิปไตยทางไซเบอร์ของชาติตัวเอง