ฟอซ ดูกัวซู่วันนี้

ฟอซ ดูกัวซู่วันนี้

Foz do Iguacu (ปากน้ำตกอิกวาสุ) เป็นเมืองชายแดนของบราซิลที่ไม่ธรรมดา เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ประชิดพรมแดนอาร์เจนติน่ากับปารากวัย

ที่มีเมือง Puerto Iquazu (เมืองท่าน้ำตกอิกวาสุ) และ Cidade do Leste (นครตะวันออก) ตามลำดับ ต่อกันเป็นพรมแดน 3 ประเทศ โดยมีแม่น้ำ Parana แม่น้ำที่ยาวอันดับ 2 ของทวีปอเมริกาใต้รองจากแม่น้ำ Amazon เป็นตัวกั้น ความยิ่งใหญ่งดงามของธรรมชาติเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว พลังอำนาจของน้ำเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานจากพลังงาน ขณะที่ปัญหาความมั่นคงชายแดนก็มีมากจนกองทัพต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผมได้มีโอกาสบินไปดูงานกับกองทัพบกบราซิลที่ฟอซดูกัวซู่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดูงานพลังงานของชาติทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม  ที่นี่ได้รับการจัดสรรให้ดูอย่างเป็นทางการ 3 จุดคือ เขื่อน Itaipu ซึ่งบราซิลกับปารากวัยร่วมมือกันทุกอย่างในการแปรพลังน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงพื้นที่กว้างขวางของละตินอเมริกา กรมทหารราบยานเกราะของ ทบ.บราซิล ที่มียานเกราะรุ่นใหม่ ผลิตเอง เพื่อการรักษาความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และอุทยานแห่งชาติที่มีการจัดท่องเที่ยวน้ำตกอิกวาสุ น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดของโลกกั้นพรมแดนบราซิลกับอาร์เจนติน่า

เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว ตัวเมืองฟอซดูกัวซู่ จึงคึกคักมาก โดยเฉพาะยามค่ำคืน ร้านกินดื่มทั่วเมือง เศรษฐกิจดีเพราะเงินจับจ่ายหมุนเวียนเยอะ  อิทธิพลของคนเชื้อสายญี่ปุ่นปรากฏอยู่ทั่วไปในรูปของโรงแรมและร้านอาหาร คนญี่ปุ่นอพยพเข้าสู่บราซิลเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ตอนนี้ที่บราซิลเป็นดินแดนนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีคนเชื้อสายญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากที่สุด ชนพื้นเมืองแถบนี้ คือ ชาวเผ่า Guarani มีมากอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ยังชีพโดยงานหัตกรรม การขายของระดับล่างและการบริการ นอกเมืองมีชนพื้นเมืองอาศัยอยู่มากกว่า และประสบปัญหาที่ทำกินกับน้ำท่วม เพราะรัฐต้องจัดหาพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วม เมืองมองลงมาจากบนเครื่องบินจะเห็นการทำคันกั้นแม่น้ำสายย่อยจำนวนมาก การย้ายถิ่นนำไปสู่การประท้วงค่าชดเชยและปัญหาสังคมอื่นๆ

เศรษฐกิจชายแดนที่ดีมีส่วนในการสร้างความสงบร่มรื่นให้กับ 3 ประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้ว่าในอดีตต่างเคยรบกันจนถึงขั้นปารากวัยแทบสิ้นชาติก็ตาม กระนั้นเอง เศรษฐกิจที่ดีและการเป็นรอยต่อระหว่างประเทศทำให้พ่อค้าตลาดมืดมีมาก การค้าของผิดกฎหมายและยาเสพติดก็มี ฝั่งของปารากวัยที่จนกว่าพยายามพัฒนาประเทศด้วยการตั้งเป็นเขตปลอดภาษี ห้างทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อยเยอะมาก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ตลาดนครตะวันออกของปารากวัยใหญ่กว่าของลาวชายแดนไทยเสียอีก การเดินทางจากฝั่งบราซิลเข้าไปจับจ่ายใช้สอยคึกคักตลอดวัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้ประเทศที่ไม่ติดทะเลและยากจนที่สุดของอเมริกาใต้อยู่รอดได้

เขื่อนอิไตปูบนแม่น้ำปาราณานั้นผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเขื่อนสามโตรกของจีนเสียอีก  พื้นที่ของเขื่อนตั้งอยู่บนดินแดนที่เคยเป็นของบราซิลและปารากวัย แต่ตอนนี้ถือเป็นพื้นที่ปลอดสถานะอธิปไตย เพื่อไม่ให้ชาติใดอ้างว่าเคยเป็นเจ้าของและจะมายึดคืนไปได้ ทุกอย่างของเขื่อนถูกแบ่งให้บราซิลกับปารากวัยได้ผลประโยชน์ 50-50 เท่ากันเป๊ะ ทั้งด้านเจ้าหน้าที่และผู้บริหารในแต่ละงานต้องมีฝ่ายละเท่าๆกัน เขื่อนส่งไฟมายังโรงไฟฟ้าในบราซิลและปารากวัยเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน บราซิลขายไฟในส่วนของตนได้กว้างขวางให้กับอเมริกากลางและอาร์เจนติน่า ส่วนปารากวัยที่มีสัญญาขายไฟให้ต่างชาติน้อยกว่าก็ขายให้บราซิล ด้วยความเท่าเทียมกันเช่นนี้ทำให้ปารากวัยรุ่มรวยขึ้น ขณะที่บราซิลปลอดปัญหาพลังงานด้านใต้ของประเทศ

แม่น้ำปาราณาที่ไหลต่อไปทำให้เกิดน้ำตกขนาดใหญ่คือ อิกวาสุ เป็นพรมแดนกั้นบราซิลกับอาร์เจนติน่าตามธรรมชาติ น้ำตกด้านอาร์เจนติน่านั้น จะมีสายธารจำนวนมากกว่าและมีสีขาว ขณะที่ด้านบราซิลจะสูงใหญ่กว่าและมีสีขุ่น อุทยานน้ำตกของ 2 ประเทศนั้นเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

ในเมื่อปลอดจากภัยคุกคามตามแบบ กองทัพบกบราซิลจึงมุ่งด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและปราบปรามภัยคุกคามนอกแบบ มีการดำเนินโครงการผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น ระบบตรวจการณ์พรมแดนแบบบูรณาการ (Integrated border Land Monitoring System – SISFRON) ที่สามารถเฝ้าดูพื้นที่ที่เต็มไปด้วยป่ารกชัฎได้อย่างชัดเจนจากอากาศ การผลิตยานเกราะ Guarani อันทันสมัยเมดอินบราซิล ทำให้ทหารมีพาหนะที่เหมาะสม สนองตอบต่อปัญหาภัยคุกคามนอกแบบได้รวดเร็ว กองพลทหารราบยานเกราะกองพลแรกตั้งขึ้นที่นี่เมื่อไม่กี่ปีก่อน ทำการฝึกและพัฒนาหลักนิยมเพื่อเป็นแนวทางการเปลี่ยนกองพลทหารราบยานยนตร์ให้เป็นยานเกราะให้หมดทั้งประเทศในอนาคต จนถึงบัดนี้การเข้าถึง ช่วยเหลือประชาชน และสกัดกั้นผู้ร้ายทำได้ดีมาก ความพยายามนั้นไม่หยุดยั้ง และหวังว่าจะหนุนเกื้อความอยู่ดีมีสุขของสามประเทศตลอดไป