เหตุเกิดก่อนและหลังเลือกตั้ง (ครั้งโน้น)

เหตุเกิดก่อนและหลังเลือกตั้ง (ครั้งโน้น)

ในช่วงวิกฤติการเมืองต้นปี พ.ศ. 2549 หลังจากที่คุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๔ ก.พ.

ผู้เขียนเองไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาฯครั้งนั้น (เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยได้รับการอธิบายไว้ในงานวิจัยเรื่อง “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: บทวิเคราะห์มาตรา 7 จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 (รธน.2540)  ถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน [จากมุมมองทางรัฐศาสตร์] สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2557) ตัวผู้เขียนจึงตัดสินใจฉีกบัตรเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. และต่อมาก็ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา และถูกตัดสินว่ามีความผิด จำคุก 2 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับเงิน 2,000 บาท และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินไปในวันที่ 4 ธ.ค.2557 ซึ่งจะครบ 5 ปี ในวันที่ 4 ธ.ค. 2562

จำได้ว่า ผู้เขียนได้ประกาศในงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง และหลังจากนั้น ก็มีสื่อมวลชนติดต่อขอสัมภาษณ์ และผู้เขียนก็ได้อธิบายและยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะไม่ยอมรับการเลือกตั้ง เพราะไม่ยอมรับการยุบสภาครั้งนั้น ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง มีนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งโทรศัพท์มาแนะนำให้ผู้เขียนอย่าฉีกบัตร เพราะจะโดนเล่นงานหนัก อีกทั้งนักหนังสือพิมพ์ผู้นั้นก็บอกอีกว่า เดี๋ยวทหารเขาก็ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปฉีกบัตรเปลืองตัว

ต่อจากนักหนังสือพิมพ์ผู้นั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยทางโทรศัพท์กับนักวิชาการทางรัฐศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่ง และท่านก็ได้บอกว่า อาจารย์ผู้ใหญ่ทางรัฐศาสตร์ (ใหญ่กว่านักวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนคุยโทรศัพท์ด้วย) ได้โทรมาขอให้บอกกับผู้เขียนว่า อย่าฉีกบัตรได้ไหม แต่ผู้เขียนก็ได้อธิบายเหตุผลที่จะฉีกบัตรให้ท่านฟัง และหลังจากฟังเหตุผลของผู้เขียนแล้ว ท่านก็ยอมรับเหตุผลของผู้เขียน

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ผู้เขียนได้มีโอกาสทานข้าวพูดคุยกับศิลปินนักร้องวัยรุ่นท่านหนึ่ง และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกัน ศิลปินท่านนั้นก็บอกว่า งั้นเขาจะไปฉีกบัตรเลือกตั้งด้วย ขณะเดียวกัน ก็มีคุณหมอจากสงขลาโทรศัพท์มาคุยเกี่ยวกับเรื่องการเมืองด้วย

วันที่ 5 มี.ค.ได้มีกลุ่มบุคคลทูลเกล้าฎีกา มีใจความว่า “ขอพระราชทานพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ขอพระมหากรุณาเป็นที่พึ่ง ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย นำจารีตประเพณีการปกครอง ตามมาตรา 7 ของ รธน.2540 มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีรัฐบาลชั่วคราว ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ และดูแลเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นการเริ่มต้นกิจกรรมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยใหม่ โดยพรรคการเมืองทุกพรรคมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและบริสุทธิ์ยุติธรรม” โดยเหตุผลที่ให้ไว้ก่อนข้อความนี้คือ ตามที่ ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจตาม รธน. ทำการยุบสภา โดยมิได้มีเหตุอันควรที่ถือธรรมเนียมปฏิบัติ ตามครรลองของระบบรัฐสภา การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการทำลายระบบรัฐสภาแล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ประชาชนได้มาชุมนุมมากขึ้นเป็นลำดับ กลุ่มบุคคลผู้หวังดีต่อประเทศชาติหลายกลุ่มเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ก็ไม่เป็นผล นายกรัฐมนตรีกลับสั่งให้มีการระดมประชาชนเพื่อมาสนับสนุนตนเอง โดยไม่ใส่ใจต่อคำเรียกร้องของประชาชน”

เมื่อถึงวันที่ 2 เม.ย. 2549 ตอนเช้า ผู้เขียนตื่นมา ยังไม่ได้ออกไปที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน สามารถเดินเท้าไปได้สบายๆ ก็มีลูกศิษย์โทรศัพท์เข้ามาบอกว่า ทำไมยังไม่มาที่หน่วยเลือกตั้ง สื่อมวลชนเขารออยู่ ผู้เขียนก็นึกในใจว่ามันเรื่องอะไรของลูกศิษย์คนนั้นที่ต้องโทรมาตาม เพียงเพราะสื่อฯรอทำข่าวอยู่ !?

หลังจากนั้นสักพัก ผู้เขียนก็เดินไปที่หน่วยเลือกตั้ง พร้อมบุตรชายที่ช่วยถือป้ายมาตราในรัฐธรรมนูญที่ผู้เขียนใช้อ้างเป็นสิทธิ์ที่จะการทำการต่อต้านไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนั้น เมื่อเดินไปถึงหน่วยเลือกตั้ง และเข้าไปรับบัตรเลือกตั้ง แล้วเดินเข้าคูหากาบัตร แล้วก็ประกาศเจตนารมณ์ แล้วก็ฉีก เพียงอึดใจ ก็ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซด์คันใหญ่ขับออกไป และมีคนมาบอกว่า ผู้ขี่มอเตอร์ไซด์คือ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ที่มาที่หน่วยเลือกตั้งนี้ด้วย และเมื่อสื่อเข้าไปถามพี่ว่ามาทำไม พี่เขาก็ตอบว่า กูจะมาดูคนฉีกบัตร เมื่อผู้เขียนฉีกบัตรแล้ว พี่เขาก็เลยจากไป หลังประจักษ์แล้วว่า ผู้เขียนได้ฉีกบัตรจริงๆ ตามที่พูดไว้

หลังจากฉีกบัตร ผู้เขียนก็ได้เดินไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำการที่หน่วยเลือกตั้งนั้น และขึ้นรถตำรวจเดินทางไปที่สถานีตำรวจประเวศ ที่สถานีตำรวจ ผู้เขียนก็ได้เข้าสู่กระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือ และสอบปากคำ หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ใช้บัตรข้าราชการประกันตัวเองออกมาและกลับบ้าน และทราบว่า มีพี่น้องทางสงขลาก็ฉีกบัตรด้วย

วันที่ 24 เม.ย. มีพระราชดำรัสใจความตอนหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ยุ่ง เพราะว่าถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย. มีของเรามีศาลหลายชนิด มากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบนี่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้. นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ขอร้องอย่างนี้. แล้วก็ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำตามมาตรา 7 มาตรา 7 ของ รัฐธรรมนูญ. ซึ่งขอยืนยัน ยืนยันว่า มาตรา 7 นั้น ไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่. มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง. ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่. ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเกินหน้าที่. ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

หลังจากนั้นวันที่ 8 พ.ค.2549 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ และได้มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน ต.ค. พ.ศ. 2549

จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมานั่งประมวลทบทวนดูแล้ว พบว่า 1. ถ้าเชื่อตามนักหนังสือพิมพ์ท่านนั้น แปลว่า กระแสข่าวที่จะมีการทำรัฐประหารได้เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้าการเลือกตั้ง และในที่สุดก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้นจริง 2. ฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานจึงอาจจะมีนัยที่ต้องการหาทางออกที่ไม่ใช่การทำรัฐประหาร ตามที่ ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้ารัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ผู้เขียนก็ได้รับข้อมูลว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.นั้น แม้ว่า พรรคไทยรักไทยอาจจะชนะอีก แต่จะมี ส.ส. จำนวนมากจะไม่อยู่ในสังกัดของนายใหญ่อีกต่อไป เพียงแต่จะขอใช้เงินนายใหญ่หาเสียงเลือกตั้งก่อน แล้วจะตีจากไปหลังเปิดประชุมสภาแล้ว เพราะเห็นว่า สถานการณ์ขณะนั้นไม่สู้ดี พูดง่ายๆว่า ทิ้งนายไปดีกว่า 

แต่ก็ไม่สามารถรู้ดีว่า ข้อมูลที่ว่านี้ จริงหรือมั่วนิ่ม หรือซื้อเวลาสถานการณ์ เพราะเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.เสียก่อน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ รายชื่อนักการเมืองที่จะตีจากนายใหญ่ก็คือ รายชื่อของนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่พากันย้ายเข้าพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่งขณะนี้