ตลาดการเงินโลกปี 2019: ปีของทรัมป์

ตลาดการเงินโลกปี 2019: ปีของทรัมป์

ในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้เขียนขอฉาย 4 ธีมใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่เกี่ยวข้องกับทรัมพ์ ดังนี้

  1. สงครามการค้าเปลี่ยนเป็นสงครามเทคโนโลยี (Trade war to tech war)

ปี 2018 เป็นปีที่ทรัมพ์เริ่มเปิดศึกสงครามการค้าโดยเฉพาะกับจีน ซึ่งส่งผลต่อระบบห่วงโซ่การผลิตโลก (Global supply chain) โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกไปยังจีน อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังการประชุม G20 ที่สหรัฐประกาศจะไม่ขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ในสินค้านำเข้า 2 แสนล้านดอลลาร์ แลกกับการที่จีนยอมเริ่มเจรจาเรื่องประเด็นการบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี (Forced Technology Transfer)

ต่ผู้เขียนเชื่อว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราว (Truce) แต่จะไม่สามารถยุติสงครามได้ในระยะยาว เนื่องจากจีนใช้กลยุทธนี้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ชาติ Made in China 2025 ขณะที่ทรัมพ์ไม่ต้องการให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก

ดังนั้น ในปี 2019 ทรัมพ์จะบีบจีนมากขึ้นในประเด็นดังกล่าว โดยจะกำกับตรวจสอบและควบคุมไม่ให้เทคโนโลยีของตนถูกโอนย้ายไปสู่มือบริษัทจีน รวมถึงบีบบังคับผ่านการใช้กลไกอื่น ๆ มากขึ้น เช่น การจับกุมผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีจีน เช่นกรณีหัวเว่ย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับบริษัทเหล่านั้น รวมถึงกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเหล่านี้ด้วย

  1. นโยบายการเงินโลก:Inverted Yield Curve ของสหรัฐจะเป็นกุญแจหลัก

ปี 2018 เป็นปีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ทำนโยบายการเงินตึงตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขึ้นดอกเบี้ย และลดปริมาณพันธบัตรที่ Fed ถืออยู่

นโยบายดังกล่าวเกิดผลกระทบสำคัญ 3 ประการ คือ (1) ทำให้สภาวะทางการเงินสหรัฐเริ่มตึงตัวขึ้น โดยดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage) รวมทั้งดอกเบี้ยหุ้นกู้บริษัทเอกชนถูกปรับเพิ่มขึ้น 1% เป็นอย่างน้อย (2) ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก จนทำให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ (EM) จนเกิดวิกฤต เช่น ตรุกี แอฟริกาใต้ อินโดนิเซีย เป็นต้น และ (3) นำไปสู่ความเสี่ยง Inverted Yield Curve หรือผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตในอนาคต (ประเด็นนี้อ่านเพิ่มเติมได้ใน SCBS Make Sense#3: Inverted Yield Curve ไม่ Make sense ใน fb: SCB Securities)

ในปี 2019 การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะชะลอลง โดยอาจขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 1-2 ครั้งในปีหน้า โดยผู้เขียนมองว่าประเด็น Inverted Yield Curve จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ Fed ชะลอหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ย โดยหากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี เข้าใกล้หรืออยู่ในระดับเดียวกับ 10 ปีแล้วนั้น (หรือ Yield Curve ใกล้จะ Inverted) จะส่งผลสำคัญให้ตลาดตื่นตระหนกและผันผวนอย่างรุนแรง แต่หาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงสามารถสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้ ความตึงตัวทางการเงินของสหรัฐก็จะลดลง ภาวะ Inverted Yield Curve ก็อาจไม่เกิดขึ้น และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐรอดพ้นจากวิกฤตได้ ซึ่งทรัมพ์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ด้วยเช่นกัน

  1. ตลาดน้ำมันจะเป็นของทรัมพ์

ในปี 2019 ผู้เขียนเชื่อว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดต่ำลงจากประมาณ 70-75 ดอลลาร์ในปี 2018 จาก 3 ปัจจัยคือ (1) เศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง โดยเฉพาะจากประเทศยักษ์ใหญ่เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน (2) การที่ OPEC โดยเฉพาะซาอุดิอาราเบียขาดอำนาจในการต่อรอง โดยทรัมพ์จะนำประเด็นเรื่องมกุฎราชกุมารซาอุดิอาราเบียสังหารนักข่าววอชิงตันโพสต์มาเป็นประเด็นต่อรอง และ (3) ทรัมพ์สามารถเลื่อนหรือยกเลิกการผ่อนปรนการคว่ำบาตรอิหร่านได้

ผู้เขียนเชื่อว่า ในปัจจุบันทรัมพ์มีแรงจูงใจที่จะให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อให้ (1) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศต่ำลง และลดแรงกดดันต่อผู้บริโภค (2) เพื่อให้ผู้ประกอบการสหรัฐขายได้ในปริมาณมากหลังจากที่สหรัฐเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมพ์สามารถบงการตลาดน้ำมันได้นั้นทำให้ราคาน้ำมันมีความเสี่ยงผันผวนมากขึ้นในอนาคต

  1. การเมืองสหรัฐจะลุกเป็นไฟ

ในปี 2019 หลังการเลือกตั้ง Mid-term Election ที่สภาคองเกรสหรือสภาล่างของสหรัฐตกเป็นของพรรค Democrat เป็นไปได้สูงที่การเมืองภายในสหรัฐจะร้อนแรงขึ้น เนื่องจาก ส.ส. Democrat ที่ได้รับเลือกเป็นหนุ่มสาวไฟแรง ขณะที่ ส.ส. ฝั่ง Republican ที่ได้รับเลือกก็เป็นเพราะทรัมพ์ไปช่วยหาเสียงในลักษณะก้าวร้าวและรุนแรง

ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงว่าเมื่อ ส.ส. เหล่านี้เข้ามาในสภา จะมีการต่อสู้อย่างเผ็ดร้อนมากขึ้น โดยฝั่ง Democrat จะหาจุดอ่อนที่สามารถล้มทรัมพ์ได้และตีในประเด็นนั้น ในขณะที่ทรัมพ์และ ส.ส. Republican ก็จะผลักดันประเด็นที่เป็นวาระของตนมากขึ้น ดังนั้น ในปี 2019 แม้ว่าเสียงของ Democrat จะไม่พอที่จะลงเชื่อเพื่อถอดถอน (Impeach) จากตำแหน่ง แต่ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนในการเมืองสหรัฐมากขึ้น

รวมทั้งหากกระแสการเมืองภายในสหรัฐรุนแรง ทรัมพ์อาจนำประเด็นอื่น ๆ เช่น สงครามการค้า การเข้าแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed รวมทั้งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ในตลาดน้ำมันเข้ามากลบกระแสการเมืองภายในได้

สี่ธีมข้างต้น จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ตลาดการเงินโลกผันผวน และเมื่อผนวกกับความเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุโรป เช่น กระแสความไม่แน่นอนเกี่ยวกับ Brexit (ว่าจะ Hard, Soft หรือ No Brexit หรือจะเลื่อนการเจรจาออกไป) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศใหญ่ รวมถึงการเลือกตั้งในรัฐสภายุโรป (ที่กลุ่มขวาจัดสุดโต่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น) รวมถึงการเปลี่ยนตัวประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้

2019 จะเป็นปีแห่งความบ้าคลั่งของทรัมพ์ (Crazy Trump) นักลงทุน เตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]