ไฮไลต์เศรษฐกิจโลก 2019

ไฮไลต์เศรษฐกิจโลก 2019

เมื่อเรากำลังเข้าสู่ปี 2019 หากมาพิจารณาดูว่า เหตุการณ์ใดบ้าง ที่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ที่เด่นๆ จะพบว่ามีดังนี้

1.เศรษฐกิจยุโรป จะย่ำแย่ลงจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่นิ่งอีกมากน้อยแค่ไหน ทั้งจากสงครามชนชั้นเรียกร้องสวัสดิการของแรงงานในฝรั่งเศส ทางลงของ Brexit ในอังกฤษ ว่าที่วิกฤตหนี้ในอิตาลีที่ส่อว่าภาวะหนี้จะสูงขึ้นต่อไปอีกมาก หรือแม้กระทั่งวิกฤตผู้นำในเยอรมัน รวมถึงธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบีจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โอกาสที่อีซีบีจะกระตุ้นต่อไปผ่านมาตรการ TLTRO (Targeted Long-Term Refinancing Operations) หรือการให้แบงก์พาณิชย์กู้โดยมีหลักประกันด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำมีอยู่สูงขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของครั้งแรก อาจจะไม่ใช่อยู่ในยุคของมาริโอ ดรากิ หรืออาจเป็นไปได้ว่าอียู จะหันมาทบทวนนโยบายการคลังให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น

1.ธนาคารกลางสหรัฐจะมีนโยบายการเงินในปีหน้า เป็นเช่นไร การขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือไม่ โอกาสดังกล่าวถือว่ามีอยู่สูงถึงเกือบ 50% ในตอนนี้ รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพักรบในสงครามการค้า เปลี่ยนโหมดมาเป็นสงครามการเมืองทางธุรกิจ ในรูปแบบของการใช้ข้อกล่าวหาต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในจีน และกักกันผู้บริหารไปพลางก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมาเน้นสงครามการค้าในช่วงปลายปีหน้าก่อนเลือกตั้งใหญ่หรือไม่ โดยความเสี่ยงที่มาเงียบคือการย่อหย่อนด้านระเบียบต่างๆ ของสถาบันการเงินและหนี้ภาครัฐที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยผมมองความเสี่ยงของสหรัฐเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง

2.เศรษฐกิจจีนจะเน้นการทะลวงเครือข่าย Shadow Banking เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ทว่าก็จะลดการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นกัน หรือจะเน้นการกระตุ้นผ่านงบการคลังของรัฐเพื่อต้านผลกระทบจาก Trade War โดยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นขึ้นช่วยในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรจีนน่าจะอยู่ในโหมดประคองตัวไปก่อนในปีหน้า

3.ญี่ปุ่นการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของชินโซะ อาเบะ ในเดือน ต.ค.ปีหน้า จะส่งผลต่อนโยบายการเงินให้มีการกระตุ้นชุดใหญ่ก่อนหน้าหรือไม่ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเลือกชะลอการกระตุ้นตามความเชื่อของผู้ว่าการธนาคารญี่ปุ่น ฮิเรอิโกะ คูโรดา มองทั้งหมดแล้ว น่าจะผ่านปี 2019 ไปได้แบบพอไหว

4.อินเดียการเลือกตั้งในกลางปี จะมีเซอร์ไพร์สให้โมดิฟีเวอร์ต้องสะดุดไหม โดยจุดอ่อนของเศรษฐกิจอินเดีย คือ ความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินถือว่าต่ำมากในรอบหลายปีการลาออกของเอร์จิต พาเทล น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติอีกพักใหญ่

5.ตลาดเกิดใหม่จะมีแรงกระเพื่อมเหมือนกลางปีนี้ไหม ผมมองว่าค่าเงินดอลลาร์น่าจะไม่อ่อนในปีหน้า แม้ดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นน้อยครั้งในปีหน้า เนื่องจากยุโรป ญี่ปุ่น และจีนต่างเน้นให้ค่าเงินอ่อน เพราะเศรษฐกิจตัวเองแย่กว่าสหรัฐ และราคาน้ำมันปีหน้าน่าจะเหวี่ยงขึ้นลงเป็นพักๆ โดยช่วงเหวี่ยงขึ้นแรงๆ ตลาดเกิดใหม่ก็น่าจะยังโดนถล่มโดยนักเก็งกำไรเหมือนเดิม

6.อิตาลีถือเป็นความเสี่ยงอันดับ 2 ในความเห็นผมในปีหน้าคู่กับความวุ่นวายทาการเมืองในยุโรป เนื่องจากกระแสประชานิยมในฝรั่งเศสและเยอรมันตอนนี้แรงสุดๆการต่อรองด้านการคลังของรัฐบาลอิตาลีทำได้แบบไม่มีลิมิตในระดับหนึ่ง ดังนั้น วิกฤติหนี้จึงเป็นสิ่งที่มาแน่ๆ ตามกระแสประชานิยมที่เห็นประชาชนออกมาประท้วงในฝรั่งเศสแบบรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี จนมานูเอล มาครอง ผู้นำฝรั่งเศส ต้องออกมาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวานนี้ในฝรั่งเศส ตามคำเรียกร้องของแรงงานออกมาแสดงพลังทั่วประเทศ

7.Brexit ไม่ว่าจะจบแบบ No Deal แบบเลือกตั้งใหม่ หรือ Norway Style ก็ตาม ล้วนแต่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอังกฤษทั้งสิ้นโดยธนาคารกลางอังกฤษ ได้ประเมินความเสียหายไว้ว่า หาก Brexit จบสวยความเสียหายในภาพรวมของจีดีพีอังกฤษ จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ระยะยาวไว้เมื่อเดือน พ.ค. 2016 ระหว่าง 1 ถึง 3 %สำหรับในกรณีที่ Brexit จบแบบไม่มีข้อตกลงและสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของยูโรแบบกระทันหันหรือ No deal, No Transition จีดีพีอังกฤษ จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาวไว้เมื่อเดือน พ.ค.2016 ระหว่าง 7 ถึง 10.5%

โดยสรุป เฟดและทรัมป์ อิตาลี และจีน เป็นไฮไลต์ของปี 2019 ตามลำดับครับ