จี 20 ถึงทางตัน: เมื่อโลกเก่า เจอโลกใหม่

จี 20 ถึงทางตัน: เมื่อโลกเก่า เจอโลกใหม่

การประชุมกลุ่มผู้นำประเทศ จี 20 ที่เพิ่งจบไปอาทิตย์ที่แล้วที่ประเทศอาร์เจนติน่า เป็นการประชุมที่สื่อและตลาดการเงินโลกจับตามากที่สุด

เพราะนอกจากจะมีประเด็นการเจรจาสำคัญ คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่ต้องหาข้อยุติ การประชุมครั้งนี้ก็เป็นจุดทดสอบว่า เศรษฐกิจโลกจะไปทางไหนจากนี้ไป เพราะผู้นำประเทศที่เข้าประชุมแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเดิมที่เป็นโลกเก่า เป็นตัวแทนการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และกฎระเบียบแบบพหุภาคี(Multilateral )ในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ กับกลุ่มใหม่ที่ผู้นำประเทศเป็นตัวแทนการเมืองแบบอำนาจนิยม สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม ปฎิเสธกลไกแบบพหุภาคีในการแก้ไขปัญหา ชอบจะใช้การเจรจาต่อรองระหว่างคู่กรณีเป็นวิธีหาทางออก ตัวอย่างเช่น กรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน นี่คือผู้นำประเทศในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ที่มีพื้นฐานความคิดแตกต่างกันมาก จนดูแล้วคงไม่สามารถมีข้อตกลงอะไรร่วมกันได้ในทิศทางที่จะดูแลเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลที่ออกมา ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ การประชุมไม่มีข้อสรุปอะไรนอกจากผู้นำสหรัฐกับจีนตกลงที่จะเลื่อนมาตรการขึ้นภาษีไปอีกสามเดือน ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ขาดกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้กรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะดูแลตัวเองไม่ได้ถ้าเกิดปัญหาขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

กลุ่มจี 20 หรือ G20 เป็นการรวมตัวของผู้นำของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและประชากรใหญ่ที่สุด 20 ประเทศแรกของโลก มีการประชุมครั้งแรกใน ปี 2008 ยี่สิบประเทศนี้ คือ อาเจนติน่า ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมันนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย อัฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา การรวมตัวเริ่มมาตั้งแต่ ปี 1999 ในระดับรัฐบาลและธนาคารกลาง เพื่อร่วมกันส่งเสริมความมีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก เป็นการขยายผลการประชุมของกลุ่ม G7 เดิมของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่หารือกัน เรื่องการเมืองและความมั่นคง ขยายมาเป็นการประชุมเรื่องเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินโลก ทำให้ต้องรวมประเทศตลาดเกิดใหม่ ในช่วงเริ่มต้น หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเทศเข้ากลุ่มก็ไม่ได้มีอะไรแน่นอน เพราะเป็นการเชิญ ระยะหลังได้เชิญอีกหลายประเทศเข้าร่วมในฐานะ “แขก” ของการประชุม บทบาทของ G20 เด่นมากในช่วงต้น คือ ในการประชุมผู้นำประเทศ ปี 2008 และ 2010 ที่โลกกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่ประชุมผู้นำสามารถหาข้อยุติในแนวทางที่จะแก้ไขและช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหา พร้อมให้ทรัพยากรการเงินสนับสนุน ทำให้การประชุมผู้นำ G20 กลายเป็นกลไกสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก เพราะผู้นำแต่ละประเทศสามารถสั่งให้รัฐบาลของตนให้ความร่วมมือตามแนวทางที่ผู้นำ G20 ได้ตกลงกัน ทำให้การประชุม G20 ทรงพลังมากทางเศรษฐกิจ

แต่ผลของวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2008 ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก และต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าชีวิตของตนไม่ได้ดีขึ้นจากนโยบายต่างๆ ที่ได้ใช้แก้ไขปัญหา ทำให้การเมืองในระดับประเทศในกลุ่ม จี20เริ่มเปลี่ยน เกิดเป็นความไม่พอใจของประชาชนและช่องว่างที่นำไปสู่การเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่ใช้นโยบายประชานิยมเรียกคะแนนเสียง มุ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และไม่สนใจผลที่จะมีต่อประเทศอื่นหรือเศรษฐกิจโลกจากนโยบายดังกล่าว ปฏิเสธการใช้กลไกพหุภาคีหรือกลไกระหว่างประเทศ แก้ไขปัญหา ชอบการใช้อำนาจและการต่อรอง ตัวอย่างของผู้นำในกลุ่ม จี 20 ที่เติบโตมาจากช่องว่างเหล่านี้ ก็คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ ของสหรัฐ ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอัน ของตุรกี เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดิอาระเบีย ซาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล และคงต้องรวมถึง สีจิ้นผิงของจีน และวาร์ดิเมีย ปูตินของรัสเซีย ที่ครองอำนาจการเมืองแบบเบ็ดเสร็จในระบบสังคมนิยม

ผู้นำเหล่านี้มีที่มาที่ไปในแง่ความคิดทางการเมืองแตกต่างจากผู้นำอื่นๆ ในกลุ่ม จี20 แม้ส่วนใหญ่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่จุดยืนของพวกเขามาจากฐานความคิดเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างจากผู้นำกลุ่มเดิมอย่างสิ้นเชิง ผู้นำกลุ่มเดิม เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะเป็นนักการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม สนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมและชอบที่จะใช้กลไกพหุภาคีขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และองค์การการค้าโลก เป็นวิธีแก้ไขปัญหา ตรงข้ามกับผู้นำที่เป็นนักการเมืองแบบอำนาจนิยม ที่สนับสนุนนโยบายประชานิยม ปฏิเสธกลไกพหุภาคีและชอบที่จะใช้การต่อรองใช้อำนาจแทน ทำให้เวทีผู้นำโลกขณะนี้ ประกอบขึ้นด้วยคนสองกลุ่มที่แตกต่างกันมาก ทำให้โอกาสที่ผู้นำในเวทีเศรษฐกิจโลกปัจจุบันจะตกลงกันได้ในแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลกจึงมีน้อยมาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ มีสองสามเรื่อง ที่จะเกิดขึ้นตามมาที่นักลงทุนต้องติดตาม

หนึ่ง ความไม่แน่นอนด้านนโยบายจะมีมากขึ้นและจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เพราะนโยบายอาจมาจากการต่อรองของผู้นำ ทำให้นโยบายจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย มากกว่ามาจากการตกลงร่วมกันของหลายประเทศโดยกลไกพหุภาคี

สอง ความน่าเชื่อของผู้นำในแง่ความสามารถในการทำนโยบายจะเป็นประเด็นที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำจะให้ความสำคัญ เฉพาะแต่ประโยชน์ของประเทศของตนมากกว่าประโยชน์หรือผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกที่เป็นส่วนร่วม

สาม กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาจะไม่มีเหมือนก่อน เศรษฐกิจโลกอาจกลับเข้าไปสู่ยุคต่างคนต่างอยู่ ทำให้ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกขึ้นอีกครั้ง ก็ยากที่จะเห็นประเทศต่างๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหา เพราะประเทศหลักๆ อาจไม่สนใจให้ความร่วมมือ เป็นความอ่อนแอที่จะสร้างความเสี่ยงให้มีมากขึ้นในเศรษฐกิจโลก

นี่คือโลกใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนโลกเก่า ทำให้ความไม่แน่นอนยิ่งจะมีมากขึ้น