สินเชื่อรถบูมปีนี้ … ฉุดการบริโภคเอกชนปีหน้า

สินเชื่อรถบูมปีนี้ … ฉุดการบริโภคเอกชนปีหน้า

ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ที่ประกาศล่าสุด แม้จะออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

แต่ถ้าดูองค์ประกอบแล้วก็ลดความกังวลลงไประดับนึง เพราะอุปสงค์จากในประเทศสามารถขยายตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ถึง 5% สูงสุดตั้งแต่มีมาตรการรถยนต์คันแรกในปี 2011-2012

โดยมีหลายปัจจัยที่ช่วยหนุนการบริโภคเอกชน ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่เฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปีก่อน แต่ปัจจัยสำคัญที่อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าไหร่ก็คือการครบกำหนด 5 ปีของคนที่ซื้อรถจากมาตรการรถคันแรกที่เริ่มถูกปลดล็อคไปตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2016 เพราะเมื่อดูประเภทสินค้าที่บริโภคเพิ่มขึ้นแล้ว รถยนต์เป็นสินค้าที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นที่โดดเด่นที่สุด โดยขยายตัวกว่า 18% ในปี 2017 และยังขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ เฉลี่ย 3 ไตรมาสที่ 13.6% ซึ่งสอดคล้องกับสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 2017 โดยขยายตัวถึง 8.4% ในปี 2017 และ 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ก็ขยายตัวไปแล้วกว่า 9.2% รวมแล้วเพิ่มขึ้นกว่า 1.6 แสนล้านบาท

ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขอสินเชื่อก็เหมือนเป็นการเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน พอถึงเวลาต้องผ่อนชำระในอนาคตก็ต้องไปลดการบริโภคอื่นๆลง หากดูจากผลของมาตรการรถคันแรกตั้งแต่เริ่มมาตรการในช่วงปลายปี 2011 จนถึงสิ้นปี 2012 สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นกว่า 2.1 แสนล้านบาท การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมขยายตัวถึง 6.7% ซึ่งหาก ลองเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยของผู้มีงานทำ ภาระผ่อนในปี 2012 จะสูงถึง 48% ของรายได้เลยทีเดียว ถึงแม้ภาระผ่อนจะค่อยๆลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง พอหนี้สูง การบริโภคภาคเอกชนในปีต่อมาจึงขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดรถยนต์ที่หดตัวสูงถึง 32.5% และ 9.3% ในปี 2014 และ 2015 ตามลำดับ

นอกจากนี้ หากพิจารณาหนี้เสียของสินเชื่อรถยนต์เริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นแล้ว อีกทั้งตัวเลขหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ หรือ SM ซึ่งเป็นหนี้ที่มีการค้างชำระแต่ระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือน ก็สูงถึง 7.3% สะท้อนความเสี่ยงของคุณภาพหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตที่แย่ลง แม้จะเป็นหนี้ที่มีหลักประกันและผู้ปล่อยสินเชื่อสามารถนำรถไปขายทอดตลาดก่อนที่จะกลายเป็นหนี้เสียได้ก็ตาม

ต้องเรียนว่าตัวเลขหนี้ที่เสียงจะสูญ (Possible Impaired Loan) ซึ่งรวมทั้ง NPL และ SM ไว้ด้วยกันที่สูงถึงเกือบ 9% ของสินเชื่อรถของระบบธนาคารพาณิชย์ ไม่เป็นปัญหากับตัวสถาบันการเงินเอง เพราะถ้าขาดผ่อน หลักประกันที่ยึดมามีสภาพคล่องดี กล่าวคือขายทอดตลาดได้ง่ายเร็ว ไม่เหมือนที่ดิน สิ่งปลูกสร้างที่ติดจำนอง แต่แน่นอนผลกระทบหลักคือฟองสบู่เล็กๆในตลาดรถและราคารถมือสองที่จะแย่ลง

ปัญหาไม่ได้ตกอยู่กับสถาบันการเงินแต่อยู่ที่ประชาชน ถ้าคนที่ได้สินเชื่อไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระ ผลคือไม่ใช่แค่โดนยึดรถแต่ต้องเสียประวัติด้านเครดิต ซึ่งมีผลตามมาอีกมากมาย

จากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของมาตรการรถคันแรก โดยเทียบกลุ่มคนที่ซื้อรถคันแรกในช่วงมาตรการดังกล่าว กับกลุ่มที่ซื้อรถคันแรกในช่วงเวลาอื่น พบว่ากลุ่มที่ซื้อรถในช่วงมาตรการดังกล่าวมีโอกาสผิดนัดชำระสูงกว่ากลุ่มที่ซื้อรถคันแรกในช่วงอื่น ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่สินเชื่อรถยนต์ที่มีโอกาสผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น แต่สินเชื่อประเภทอื่นของคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ คนกลุ่มดังกล่าวยังมีโอกาสขอสินเชื่อใหม่ที่น้อยกว่าอีกด้วย

ดังนั้นปัจจัยที่ช่วยดันการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในตอนนี้อาจมาจากปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น และน่าจะเริ่มชะลอลงในปีหน้า โดย TMB Analytics มองว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงจาก 4.7% ในปีนี้ เหลือ 3.5% ในปี 2019 สอดคล้องกับสินเชื่อรถยนต์ที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจาก 14.2% ในปี 2018 เหลือ 9.2% ในปี 2019