AI แดนมังกร ฝันที่ไกลต้องไปให้ถึง

AI แดนมังกร ฝันที่ไกลต้องไปให้ถึง

ความมุ่งมั่นของจีนที่จะขึ้นเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรม Artificial Intelligence (AI) ของโลกภายในปี 2030

ถูกบรรจุเข้าในยุทธศาสตร์ชาติ “Made in China 2025” ของรัฐบาลจีนที่ต้องการผลักด้นให้จีนก้าวพ้นจากการเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกและใช้แรงงานคนในการผลิต ขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่ทรงพลังจากนวัตกรรมการผลิตและ AI ด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ยานพาหนะไร้คนขับ การผลิตหุ่นยนต์หรือแขนกล การค้าปลีก การเงิน การแพทย์ (BioTech) รวมถึงนวัตกรรม Facial Recognition 

ด้วยสถานการณ์สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนขณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนการก้าวขึ้นเป็นผู้นำแห่งนวัตกรรม AI ของจีนไม่มากก็น้อย

เป้าหมายและการพัฒนา

แม้ว่าจีนจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลกโดยการผลิตสมาร์ทโฟนถึง 90% เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี 65% และโทรทัศน์กว่า 67% ของโลก แต่ในปี 2017 จีนกลับต้องนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์เป็นมูลค่าถึง 260,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยแผนการพัฒนา AI จีนหวังว่าจะสามารถสร้างผลผลิตจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ถึง 305,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030 

จีนเป็นตลาดรถยนต์และรถพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังคงล้าหลังอเมริกาในด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ จีนจึงตั้งเป้าที่จะเป็นแหล่งผลิตเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ที่สร้างมูลค่ากว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 

นอกจากนี้ความต้องการหุ่นยนต์หรือแขนกลในภาคการผลิตทำให้ตลาดของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 23.4% ในช่วงเวลา 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2016 จีนจึงตั้งเป้าผลิต 50% ของหุ่นยนต์ขึ้นใช้เองภายในปี 2020 และเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2025 และด้วยระบบฐานข้อมูลประชากรกว่า 1,300 ล้านคนที่ถูกนำมาใช้กับนวัตกรรม Facial Recognition สามารถระบุตัวตนผู้คนได้ถูกต้องถึง 90% ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ได้กลายเป็นแกนสำคัญในการสร้างระบบ Social Credit ให้กับประเทศ 

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดระบุว่าความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI ของจีนยังถูกจัดอยู่ที่ 17 คะแนนขณะที่อเมริกาอยู่ที่ 33 คะแนน จึงเป็นโอกาสที่จีนจะเร่งเครื่องตามคู่แข่งรายสำคัญให้ทัน

ปรับให้ทันการแข่งขัน

เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม AI จีนได้กำหนดแผน “Next Generation Artificial Intelligence Development Plan” ในปี 2017 ขี้นเป็นสามขั้นประกอบด้วย (1) ขั้นแรกก้าวให้ทันประเทศผู้นำนวัตกรรม AI ภายในปี 2020 โดยการประยุกต์ใช้ Big Data การพัฒนาระบบขับเคลื่อนแบบไร้คนขับและระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (2) ขั้นที่สองการค้นคว้า AI ที่ก้าวล้ำ (Breakthrough) ภายในปี 2025 เพื่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การแพทย์ การป้องกันประเทศและกฏหมาย และ (3) ขั้นที่สามการก้าวเป็นประเทศผู้นำด้าน AI ของโลกภายในปี 2030 โดยเน้นด้านการพัฒนาสังคม โครงสร้างการป้องกันประเทศและห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าการค้าภายในประเทศให้ได้ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ผู้นำจีนได้กล่าวถึงความจำเป็นในการที่ประเทศต้องพัฒนาเทคโนโลยีด้าน AI เนื่องจากความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าของสังคมและการเมืองโลก โดยเน้นว่า AI เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการปฏิวัติเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้น กลยุทธ์ในการขับเคลื่อน AI ที่ทรงประสิทธิภาพเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าประเทศจะสามารถคว้าโอกาสนี้เพียงใด โดยจีนควรใช้เทคโนโลยีนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรและสร้างให้ประโยชน์

อุปสรรคเปลี่ยนโอกาส

การที่จีนทุ่มเม็ดเงินลงทุนแก่กลุ่มสตาร์ทอัพด้าน AI ในช่วงปี 2017 สูงถึง 48% ขณะที่อเมริกาใช้เงินลงทุนที่ 38% ของเม็ดเงินลงทุนในโลก แสดงถึงหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จำเป็นต่อการเติบโตด้านนวัตกรรมที่จีนแสวงหา อย่างไรก็ตามนับแต่การเข้าซื้อบริษัท Kuka ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของเยอรมันด้วยเงินถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ของบริษัท Midea จากจีนในปี 2016 ได้ทำให้บริษัทในอเมริกาและยุโรปตระหนักถึงโอกาสของการสูญเสียข้อมูลทางการค้าและการคุกคามจากขยายตัวของนวัตกรรมของจีน จากข้อมูลของ Thomson Reuters ทำให้บรรยากาศการควบรวมกิจการในปีนี้ลดลงถึง 35% 

การเกิดสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจทั้งสองประเทศย่อมมีผลต่อยุทธศาสตร์ชาติของจีนครั้งนี้ และอาจสร้างโอกาสทางการค้าหรือการเปลี่ยนแผนธุรกิจของประเทศคู่ค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน