จะพัฒนาแบบไหนใจะพัฒนาแบบไหนในเมนเมื่อผู้นำทำตัวเป็นเช่นแม่ปู

จะพัฒนาแบบไหนใจะพัฒนาแบบไหนในเมนเมื่อผู้นำทำตัวเป็นเช่นแม่ปู

ย้อนไปในสมัยที่เมืองไทยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ประเทศด้อยพัฒนา” หลักสูตรชั้นประถมศึกษาของไทยกำหนดให้นักเรียนอ่านนิทานอีสปจำนวนหนึ่ง

ซึ่งให้ทั้งความบันเทิงและหลักคิด หนึ่งในนิทานเหล่านั้นได้แก่เรื่องแม่ปูกับลูกปูซึ่งบรรยายว่า แม่ปูพาลูกออกไปหาอาหารบนหาดทรายโดยแม่ปูให้ลูกเดินไปข้างหน้า หลังจากเดินตามลูกไปชั่วครู แม่ปูบอกลูกว่าอย่าเดินเฉไปเฉมาอย่างนั้น ลูกปูไม่รู้จะเดินตรงได้อย่างไรจึงบอกแม่ให้เดินให้ดู ปรากฏว่าแม่ปูเดินตรงไม่ได้ เรื่องนี้มีหลายข้อคิด เช่น อย่าสอนผู้อื่นให้ทำอะไรหากตนทำไม่ได้หรือไม่ทำ วิธีสอนที่ดีคือครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และผู้ใหญ่หรือพ่อแม่เป็นเช่นไรเด็กหรือลูกย่อมเป็นเช่นนั้น

ในกาลต่อมา สังคมโลกมองคำ “ด้อยพัฒนา” ว่าไม่น่าเหมาะสมเพราะนอกจากจะไม่สะท้อนความเป็นจริงแล้ว ยังมีความหมายที่ชี้ไปในทางดูแคลนอีกด้วย จึงเปลี่ยนเรียกกลุ่มดังกล่าวว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” ในเวลาไล่เลี่ยกัน นิทานอีสปถูกถอดออกจากหลักสูตรชั้นประถมศึกษาของไทย

การถอดนิทานอีสปออกจะมีผลดีผลเสียอย่างไรคงถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่หลังจากเป็นประเทศกำลังพัฒนามาหลายสิบปี เมืองไทยยังย่ำอยู่ที่เดิม ต่างกับเกาหลีใต้ซึ่งพัฒนาได้อย่างรวดเร็วจนเป็นประเทศ ก้าวหน้า หรือ “พัฒนาแล้ว” ภายในเวลาราว 35 ปีทั้งที่ยอมรับกันว่ามีทรัพยากรน้อยกว่าไทยในทุกด้านยกเว้นทรัพยากรมนุษย์บางส่วน กล่าวคือ ชนชั้นผู้นำของเกาหลีใต้ เหนือชั้นกว่าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ หลัง 2 ประเทศ เริ่มเร่งรัดพัฒนาไล่เลี่ยกันเมื่อราว 60 ปีที่ผ่านมา ทั้งคู่มีผู้นำที่พร่ำพูดเรื่องการปราบความฉ้อฉลเริ่มจากการมีนายพลทำรัฐประหารโดยเมืองไทยเริ่มในปี 2500 และเกาหลีใต้เริ่มในปี 2504 จากนั้นมา ชนชั้นผู้นำของเกาหลีใต้มักไม่ค่อยฉ้อฉลและปราบคนฉ้อฉลอย่างจริงจัง รวมทั้งส่งประธานาธิบดีที่เคยเป็นนายพลเข้าคุก ส่วนชนชั้นผู้นำของไทยได้แต่พร่ำคำว่าปราบโกง โดยมิทำอะไรจริงจังอย่างเขา การพร่ำวาทกรรมแบบนี้เกิดจากตนมีลักษณะเสมือนแม่ปู

หากย้อนกลับไปดูโรงเรียนประถมศึกษาที่ชนชั้นผู้นำพยายามพัฒนาโดยเลิกให้เด็กอ่านนิทานอีสปจะพบว่า มีผู้เป็นเสมือนแม่ปูอยู่ทั่ว ผู้ใหญ่ทำความฉ้อฉลกันอย่างทั่วถึงซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นข่าวแต่ส่วนใหญ่ไม่เป็นข่าวเพราะมองกันว่ามิใช่ความฉ้อฉล เช่น กิจกรรมจำพวกผักชีโรยหน้าเมื่อมีการตรวจกระบวนการศึกษา หรืออาคารสถานที่ ความฉ้อฉลร้ายแรงที่ควรเป็นข่าวใหญ่แต่กลับไม่เป็นคือ ครูผู้สอนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพระสงฆ์บอกคำตอบให้แก่เด็กในห้องสอบธรรมศึกษาเพราะผู้สอนจะได้รางวัลถ้าเด็กสอบได้ในอัตราสูง เมื่อครูเป็นเสมือนแม่ปูกันอย่างกว้างขวาง การสอนเด็กให้ “โตไปไม่โกง” ย่อมไร้ผล

เรื่องแม่ปูกับลูกปูยิ่งตรงประเด็นในช่วงนี้เนื่องจากมีเหตุการณ์อันเกิดจากชนชั้นผู้นำซึ่งส่วนใหญ่ น่าจะได้อ่านนิทานอีสปเมื่อครั้งยังเรียนชั้นประถมไม่ควรทำจำนวนหนึ่งเกิดขึ้น เหตุการณ์เหล่านั้นมีที่มาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกประกาศเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ใครอยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทันทีที่ประกาศออกมา ปรากฏว่าเกิดความทุรนทุรายขึ้นในหมู่ผู้คนในหลายองค์กร รวมทั้งสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีมือกฎหมายของรัฐบาลรวมอยู่ด้วย กรรมการองค์กรและสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งมือกฎหมายคนนั้นลาออกทันทีเพราะไม่เต็มใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน อีกส่วนหนึ่งขู่ว่าจะลาออกโดยบอกว่าการได้ปริญญาของนักศึกษาจะล่าช้าถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องชวนประหลาดใจยิ่งคือ รองนายกรัฐมนตรีผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายออกมาบอกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่าอย่าด่วนลาออกเพราะตนจะหาทางยกเว้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้

เมื่อชนชั้นผู้นำในองค์กรสำคัญ ๆ ต่างทำตัวอย่างให้เห็นจนเป็นที่ประจักษ์ว่าไร้ หรือขาดความกล้าหาญด้านจริยธรรมโดยไม่ยอมทำตามกฏเกณฑ์รวมทั้งการแสดงบัญชีทรัพย์สิน หรือเดินโฉเฉเสมือนแม่ปู การพัฒนาของไทยย่อมตกอยู่ในแนวปูเดิน