สปสช. ไม่ใช่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แท้จริง

สปสช. ไม่ใช่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่แท้จริง

การจัดอันดับระบบสุขภาพของประเทศต่างๆในโลกมีการดำเนินการโดยหลายสำนัก ทั้งองค์การอนามัยระหว่างประเทศ หรือ WHO และองค์กรภาคเอกชน เช่น

เช่น Bloomberg และอีกหลายๆองค์กร ผลการจัดอันดับคงไม่สามารถบอกได้อย่างไม่มีเงื่อนไขว่าระบบสุขภาพประเทศใดดีกว่าประเทศใด เพราะขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดแต่ละมิติที่องค์กรเหล่านั้นนำมาใช้คำนวณ ยกตัวอย่างจาก Bloomberg ที่จัดอันดับล่าสุดปรากฏว่า เมื่อดูจาก The 2017 Bloomberg's Most Efficient Health Care (15 May 2017) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 41 ในขณะที่มีการจัดอันดับ The 2017 Bloomberg's The World's Healthiest Countries (2 Aug 2017) ไม่ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ใน 50 อันดับแรกและแน่นอนที่สุดว่าประเทศต่างๆก็สลับกันไปสลับกันมา ที่จริงการจัดอันดับที่น่าเชื่อถือที่สุดน่าจะเป็น World Health Organization (WHO) เพราะมีรายละเอียดอธิบายมิติต่างๆอย่างละเอียด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พบว่ามีความเห็นมากมายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้แสดงความเห็นจากประเทศตะวันตก ด้วยเหตุผลว่าระบบสุขภาพของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ระบบทุนนิยมนั้นอย่างหนึ่ง ระบบสังคมนิยมนั้นอีกอย่างหนึ่ง ระบบทุนนิยมนั้นมีต้นทุนสูงมากทั้งต่อคน และร้อยละของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ระบบสังคมนิยมนั้นต้นทุนจะต่ำ และเมื่อนำสัดส่วนต้นทุนต่อผลทีได้รับเชิงประสิทธิภาพ (Cost/Efficient) ก็จะพบว่าประเทศที่อยู่ในระบบทุนนิยมจะมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าประเทศที่อยู่ในระบบสังคมนิยม และทำให้อันดับต่ำกว่าประเทศที่ใช้ระบบสังคมนิยมอย่างมาก

หลายประเทศ ในทางการปกครองเป็นประชาธิปไตยและเป็นทุนนิยม แต่ในการบริหารระบบสุขภาพกลับใช้ระบบสังคมนิยมบางส่วนหรือทั้งหมด เรียกว่า Socialized Medicine หรือการรักษาพยาบาลแบบสังคมนิยม เช่นประเทศที่ใช้ระบบ Universal Coverage (UC) แบบประเทศไทยที่ใช้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบ Universal Health Service (UHS) ของอังกฤษ เป็นต้น ประเทศตะวันตกแถบสแกนดิเนเวียใช้ระบบสังคมนิยม แก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายด้วยการเก็บภาษีที่สูงมาก ถึง 35-40% เพื่อให้มีเงินพอที่จะดูแลประชาชนแบบ Universal องค์การอนามัยระหว่างประเทศ หรือ WHO จึงจัดอันดับตามระบบสุขภาพ หรือ World Health Organization's Ranking of the World's Health System ซึ่งก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก

ประเทศไทยใช้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ คล้ายกับระบบของอังกฤษที่เรียกว่า National Health Service (NHS) แต่มีความแตกต่างในแง่ที่ว่าระบบสุขภาพของเราไม่ได้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง แต่แบ่งเป็นสองส่วนชัดเจนคือระบบสุขภาพภาครัฐกับระบบสุขภาพภาคเอกชน โดยระบบของภาครัฐนั้นรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณทั้งหมดหรือบางส่วน ยิ่งกว่านั้นระบบสุขภาพแห่งชาติก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสามระบบคือระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่ดูแลให้สวัสดิการข้าราชการและสมาชิกครอบครัวประมาณ 7,000,000 คน ระบบประกันสังคม (สปส) ที่ดูแลลูกจ้างพนักงานองค์กรเอกชนประมาณ 13,000,000 คน และที่เหลือคือระบบกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ที่ดูแลประชาชนที่เหลือประมาณ 48,000,000 ล้านคน ถ้าดูตามตัวเลขนี้ก็ดูเหมือนว่าระบบสุขภาพของประเทศไทยครอบคลุมประชาชนทุกคนในประเทศ 68 ล้านคนโดยประมาณ และถือเป็น Universal Coverage (UC) หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่า ในจำนวน 48 ล้านคนที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติอ้างว่าดูแลทั้งหมดนั้น มีเพียงประมาณ 20 ล้านคนเท่านั้นที่หมุนเวียนมาใช้บริการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนอีกประมาณ 28 ล้านคนที่ไม่ได้มารับบริการประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้ใช้สวัสดิการข้าราชการ และไม่มีประกันสังคม ก็ใช้บริการสุขภาพภาคเอกชน หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ใช้บริการใดเลย ดูแลตัวเอง

รายงานประจำปีของสมาคมบริษัทประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัย พบว่าจำนวนคนไทยที่ทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันชีวิตพ่วงสุขภาพมีจำนวนสูงมากขึ้นทุกปี โดยประมาณจากจำนวนกรมธรรม์ที่ประชาชนซื้อเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพแต่ละปีนั้นเกินกว่าสิบล้านฉบับ เฉลี่ยความคุ้มครองประมาณ 200,000 บาทต่อหนึ่งกรมธรรม์ จึงอาจพูดได้ว่าประชาชนคนไทยได้ช่วยตัวเองโดยซื้อประกันจากภาคเอกชนปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาททีเดียว การที่ประชาชนจำนวนมากหันมาดูแลตัวเองด้วยการสละสิทธิไม่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากสามกองทุน ทำให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต่อปีจำนวนมหาศาล และสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจประกันชีวิตประกันภัยให้เติบโดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

แต่ก็เกิดคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมรัฐบาลจึงต้องจ่ายค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับ สปสช. เฉลี่ย 3,300 บาทต่อคนต่อปี ทั้ง 48,000,000 คน ในเมื่อมีคนมาใช้บริการเพียง 20,000,000 คนต่อปีเท่านั้น อาจมีคำอธิบายว่า แท้จริงแล้ว เงินรายหัวที่จ่ายให้กับประชาชนที่ไม่ได้มารับบริการนั้นไม่ได้ไปไหน แต่มาเฉลี่ยให้ผู้ที่มาใช้บริการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่า 3,300 บาท เพราะไม่เช่นนั้น สปสช.ก็คงไม่มีเงินมาจ่าย จึงเท่ากับเป็นการเกลี่ยเงิน แต่ระบบเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมจึงไม่ของบประมาณรายหัวเพิ่มขึ้น และใช้เฉพาะผู้ที่มาใช้บริการ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ใช้บริการเพราะเขาเหล่านั้นสละสิทธิ ก็ไม่ต้องมีงบประมาณส่วนนั้น อย่างนี้จะเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมามากกว่า เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ การที่จะกล่าวอ้างว่าระบบสาธารณสุขภาครัฐของประเทศครอบคลุมประชากรทั้งประเทศแบบถ้วนหน้าหรือ Universal Coverage ก็คงพูดไม่ได้

ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้มาใช้บริการหน่วยบริการที่เป็นสถานพยาบาลรัฐนั้นหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านคนมาตลอด ฉะนั้นงบประมาณสำหรับ สปสช. จึงไม่ควรเกินค่าหัวโดยเฉลี่ยในจำนวนดังกล่าว การแก้ไขเรื่องนี้คืองบประมาณของ สปสช. ไม่ควรเป็นแบบปลายปิด ให้ไปจัดการกันเองเท่าที่มี แต่ควรจะเป็นแบบปลายเปิดหรือกึ่งเปิด คำว่าปลายเปิดก็คือตามความเป็นจริงแบบสวัสดิการข้าราชการ ถ้ากึ่งเปิดก็หมายถึงส่วนหนึ่งเป็นค่ารายหัวแน่นอน แต่ส่วนที่เกินเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะจัดให้จากงบกลาง และถ้าจำนวนประชาชนที่รับบริการลดจาก 48 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการที่ผูกติดกับจำนวนประชากร 48 ล้านคนก็น่าจะลดลงมหาศาล นี่เป็นอีกเรื่องที่รัฐจะประหยัดงบประมาณลงได้อีก ส่วนหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลรัฐก็จะได้รับเงินจากการให้บริการผู้ป่วยเต็มจำนวนตามที่เบิกจ่ายตามความเป็นจริง เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆจากทั้งเงินเฟ้อและค่ายาค่าเวชภัณฑ์ใหม่ๆ โรงพยาบาลรัฐไม่ต้องแบกรับภาระเอาเงินบำรุงของตัวเองออกมาใช้จ่ายจนประสบภาวะขาดทุนกันถ้วนหน้าดังที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนที่ดีกว่าการให้บริการแบบพื้นฐานในปัจจุบัน ทั้งๆที่โรงพยาบาลจะทำได้ดีกว่า ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ

ระบบงบประมาณแบบปลายเปิด หรือกึ่งเปิดนี้จะยิ่งดีขึ้นเมื่อรัฐจัดให้มีการร่วมจ่ายจากผู้ใช้บริการในจำนวนที่เหมาะสม การร่วมจ่ายไม่ใช่การขูดรีด แต่เป็นการสร้างเสริมให้ประชาชนที่มีศักยภาพได้มีส่วนช่วยประเทศชาติ เหลือเฉพาะผู้ที่ยากจนจริงๆเช่นประชาชนที่ลงทะเบียนรับสวัสดิการจากรัฐ 11 ล้านคน ที่รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องพยายามให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมามีความสามารถในการทำงานมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นภาระรัฐน้อยลง เมื่อพ้นสภาพความยากจน