BRI ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

BRI ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

ก่อนหน้านี้ เรารู้จักชื่อยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21 ของจีน

ในชื่อ One Belt One Road (OBOR) ภาษาไทยเรียกว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ยุทธศาสตร์นี้เป็นการคิดการใหญ่ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนในด้านการต่างประเทศ วันนี้จีนเริ่มสวมบทบาทนำในเวทีโลก ผ่านการเข้ามาลงทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางสายไหมในอดีต

แต่ทราบไหมครับว่า ปัจจุบันนี้ ทางการจีนเปลี่ยนชื่อยุทธศาสตร์นี้มาใช้ชื่อทางการใหม่ว่า Belt and Road Initiative (BRI) แทนชื่อเดิม One Belt One Road (OBOR)

ผมสงสัยมาสักพักแล้วว่า ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อด้วย?

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีนักวิชาการชั้นนำของจีนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเยือนไทย ผมเลยแอบถามท่านในช่วงสนทนานอกรอบว่า ชื่อที่เปลี่ยนไปมีนัยสำคัญอะไรไหม

ท่านตอบได้อย่างน่าสนใจมากครับว่า ทางการจีนใช้ชื่อใหม่ เพื่อแก้ความเข้าใจผิดที่คนต่างชาติชอบมีเกี่ยวกับยุทธศาสตร์นี้ของจีน

ท่านถามผมว่า เวลาได้ยินชื่อเดิม “One Belt One Road” ผมคิดถึงอะไร?

คนต่างชาติส่วนใหญ่จะนึกในหัวทันทีภาพเส้นสองเส้น เส้นหนึ่งเป็นเส้นลากทางบกจากจีนไปเอเชียกลาง (เส้นทางสายไหมทางบก) อีกเส้นเป็นเส้นลากทางทะเลจากจีนมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เส้นทางสายไหมทางทะเล)

ชื่อเดิม จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด 3 ข้อ ด้วยกัน

ความเข้าใจผิดข้อแรก คือมองว่า ยุทธศาสตร์นี้ของจีน เป็นเส้นที่ตายตัว ดังที่เราจะเคยได้ยินคนบอกว่า ถ้าดูจากแผนที่ (ซึ่งลากเส้น 2 เส้น) ประเทศไทยจะไม่อยู่ในเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน เพราะเส้นในแผนที่ไม่ได้ลากผ่านไทย

อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไทยก็อยู่ในเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน โดยไทยอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor (CICPEC)) ซึ่งรวมลาว เวียดนาม กัมพูชา และเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์สายไหมใหม่ของจีน

ยุทธศาสตร์ฉบับทางการของจีนนั้น คลอบคลุมประเทศใกล้เคียงตามแนวเส้นทางในภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ทะลุไปจนถึงยุโรปและแอฟริกา) รวมมากกว่า 68 ประเทศ คิดเป็น 65% ของประชากรโลก นั่นคือแท้จริงแล้ว ยุทธศาสตร์นี้ของจีนเป็นยุทธศาสตร์เปิดกว้างกับประเทศกำลังพัฒนาตามแนวเส้นทางทั้งหมดที่ยินดีร่วมมือกับจีน

ความเข้าใจผิดข้อที่สอง ก็คือ ชื่อเดิม One Belt One Road มักทำให้คนต่างชาติชอบนึกถึงภาพการสร้างถนน สะพาน หรือเส้นทางคมนาคม แต่จริงๆ แล้ว จุดเน้นของยุทธศาสตร์นี้ของจีนคือ การสร้างความเชื่อมโยง ซึ่งมีความหมายและมิติที่กว้างขวางมากกว่าการสร้างความเชื่อมโยงตามเส้นทางคมนาคม นั่นคือ รวมถึงการสร้างความเชื่อมโยงในทุกด้าน ทั้งด้านวัฒนธรรม ด้านการเงิน ตลอดจนถึงด้านดิจิทัลที่เรียกว่า Digital Silk Road

ความเข้าใจผิดข้อที่สาม คือ ชื่อเดิม One Belt One Road นั้น คำว่า "One" มักทำให้คนต่างชาติเข้าใจผิดว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีเนื้อหาตายตัวและชัดเจนของรัฐบาลจีน มีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด

ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน เป็นเพียงกรอบกว้างๆ แต่เนื้อหาความร่วมมืออยู่ที่การเจรจาและการตกลงกันระหว่างประเทศต่างๆ กับจีน ชื่อใหม่จึงใช้คำว่า “Initiative” คือจีนเป็นคนริเริ่ม แต่จะตกลงกันหรือไม่อย่างไรอยู่ที่ทั้งสองฝ่าย ยุทธศาสตร์นี้ของจีนจึงต่างจาก Marshall Plan ของสหรัฐฯ ในช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการที่มีเนื้อหาชัดเจนมากกว่า (เช่น ใช้เงินเท่าไร สร้างอะไรบ้าง)

อาจารย์ชาวจีนท่านนี้บอกกับผมว่า เวลาคนจีนฟังชื่อเส้นทางสายไหมใหม่หรือฟังชื่อ อีไต้อีลู่” (One Belt One Road ในภาษาจีน) คนจีนจะเข้าใจดีว่านี่เป็นอุปมาโวหาร คือเป็นภาพสัญลักษณ์ แต่คนจีนไม่ได้แปลตรงตัวอักษรว่า มีแค่ 2 เส้น และตายตัว ดังที่คนต่างชาติบางคนเข้าใจ

คนจีนฟังชื่อ “เส้นทางสายไหมใหม่” แล้ว จะนึกถึงภาพความยิ่งใหญ่ของช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่มีจีนเป็นศูนย์กลางและเส้นทางการค้าโลกเชื่อมโยงเข้าสู่จีน สำหรับคนจีน เส้นทางสายไหมใหม่จึงให้ความรู้สึกถึงการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของประเทศจีน และการก้าวออกไปเล่นบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในโลกภายนอกของจีน ตอบกระแสชาตินิยมของคนจีนยุคใหม่ได้เต็มที่

อาจารย์ชาวจีนท่านนี้ยังบอกผมว่า หัวใจของความคิดเรื่องเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน เป็นเรื่องของการเปลี่ยนโมเดลความคิดในการพัฒนา โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวนำการพัฒนา พูดอีกอย่างก็คือเป็นการส่งออกแนวความคิดในการพัฒนาของประเทศจีนที่ผ่านมาให้กับประเทศอื่นๆ แต่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใด คุ้มค่ามากน้อยเพียงใด อยู่ที่การเจรจาและความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย จีนไม่มีแผนตายตัวหรือไม่มีข้อเสนอที่ชัดเจน นอกจากนั้น ยังจะเน้นการสร้างความเชื่อมโยงหลายมิติและทุกด้าน ไม่เฉพาะเรื่องโครงสร้างทางคมนาคมเท่านั้น

ยุทธศาสตร์เรื่องนี้ของจีนก็เหมือนวัฒนธรรมความคิดของจีนเรื่องอื่นๆ ซึ่งเน้น การคิดเชิงสัญลักษณ์ ความยืดหยุ่น และพร้อมปรับเปลี่ยนรายละเอียดเสมอ

แม้ว่าจีนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Belt and Road Initiative เพื่อลดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิดของความร่วมมือนี้ แต่ปัจจุบันก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ BRI อีกหลายเรื่อง เช่น ประเทศหลายประเทศสุดท้ายจะติดกับดักหนี้และเป็นเหยื่อจีนหรือไม่ เพราะกู้จีนมาลงทุนแต่ไม่มีเงินใช้ หรือสุดท้ายคนได้ประโยชน์ที่สุดคือ จีนที่เป็นคนขายเทคโนโลยีและรับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเหล่านี้

แต่อย่างที่บอกครับว่า BRI เป็นเพียงกรอบกว้างๆ โดยตัวมันเองคงไม่ใช่ดีหรือไม่ดี อยู่ที่แต่ละประเทศจะเจรจาและแสวงความร่วมมือแบบ Win-Win และเท่าทันจีนได้เพียงใด