คิดนอกกรอบรับการเปลี่ยนแปลง

คิดนอกกรอบรับการเปลี่ยนแปลง

เปิดรับทุกโอกาสและหาแนวทางปรับตัวที่เหมาะสม

ข่าวคราวการปรับลดพนักงานขององค์กรต่างๆ ในบ้านเราสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการหดตัวลงในหลายๆ ธุรกิจและในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็จะมีบางบริษัทเติบโตสวนกระแสขึ้นมาสำเร็จได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสิ่งที่แน่นอนและถาวร การปรับตัวรับกับกระแสความผันแปรในโลกธุรกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารและเจ้าของกิจการทุกคนต้องทำความเข้าใจ เพราะการยื้ออยู่กับธุรกิจเดิมๆ ที่ไม่อาจสร้างรายได้และทำกำไรได้เหมือนเดิมอาจเป็นการเร่งให้ธุรกิจของเราต้องพบจุดจบเร็วกว่าที่คาดคิด

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในองค์กรจนทำให้ปรับตัวได้ยากมักจะมาจากคนจำนวนไม่มากนัก ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจมีเพียง 3-5% แต่กลับรั้งให้องค์กรติดกับดักจนไม่อาจก้าวเดินไปทางไหนได้ ส่งผลกระทบกับคนอีก 95-97% ที่เหลือเพราะมัวแต่พะวงกับธุรกิจเดิมๆ ที่กำลังจะหดตัวจนไม่กล้ามองหาหนทางใหม่ๆ

ในขณะที่ธุรกิจรายใหม่เกิดขึ้นมาได้เพราะกล้าพิชิตข้อจำกัดเดิมๆ แล้วสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรมและนำเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างการยอมรับ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภคสร้างรายได้และผลกำไรให้กับเจ้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

เราไม่ควรหลงอยู่กับความสำเร็จในอดีตที่แม้ยังหอมหวนอยู่ในทุกวันนี้แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่ามันจะยังใช้ได้ผลในอนาคต เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรอย่างโซนี่ พานาโซนิค โตชิบา ที่ไม่ยึดติดกับตลาดโทรทัศน์ เครื่องเสียง ฯลฯ เหมือน 20 ปีที่แล้ว

ปัจจุบันนี้แม้ว่าสมาร์ทโฟนของโซนี่อาจไม่ได้ติดอันดับขายดีเหมือนกับค่ายยักษ์ใหญ่ของอเมริกา เกาหลี และจีน แต่ผู้บริโภคหลายคนอาจไม่รู้ว่าเซ็นเซอร์กล้องถ่ายรูปในสมาร์ทโฟนที่ตัวเองใช้อยู่นั้นเป็นของโซนี่เพราะผู้ผลิตเซ็นเซอร์รับภาพรายใหญ่ของโลกอย่างโซนี่นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งมาหลายปี

ยิ่งตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตเพียงใด ก็ยิ่งทำให้เซ็นเซอร์ถ่ายภาพของโซนี่ขายดีขึ้นตามไปด้วย เพราะทุกวันนี้การถ่ายภาพถือเป็นคุณสมบัติหลักที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่องหนึ่ง เราจึงเห็นโฆษณาสมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อชูจุดเด่นในเรื่องนี้ซึ่งมีจำนวนมากเป็นเซ็นเซอร์ของโซนี่

เช่นเดียวกับธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์ที่กลายเป็นตัวหลักของรายได้รวมของโซนี่ โดยไตรมาสล่าสุดทำรายได้สูงกว่า 2 พันล้านล้านเยน ด้วยอัตราการทำกำไรราว 173,000 ล้านเยน ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ธุรกิจที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วทางโซนี่จะคาดหวังว่าจะกลายเป็นตัวทำเงินให้กับบริษัทได้ในอนาคต

แต่นั่นเป็นเพราะวิสัยทัศน์ของโซนี่ที่มองเห็นอนาคตว่าคอนเทนท์จะกลายเป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้ไม่ใช่การขายฮาร์ดแวร์ซึ่งก็คือโทรทัศน์ เครื่องเสียง ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกเกาหลีและจีนแทนที่ได้ง่าย ๆ

คอนเทนต์ที่โซนี่มี จึงกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญในทุกวันนี้ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์รับภาพในสมาร์ทโฟนที่โซนี่ลงทุนไปกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ และกำลังส่งผลตอบแทนให้ด้วยการเป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์อันดับ 1 ในทุกวันนี้

ไม่มีใครบอกว่าโซนี่ควรปรับตัวอย่างไร และไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไป อย่างไรบ้าง เราทำได้ก็แต่เพียงเปิดรับทุกโอกาสและหาแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสมกับเราที่สุดเท่านั้น

การตั้งป้อมต่อต้านทุกการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นการสร้างกรอบกักขังตัวเรากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว การตั้งเป้ารับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อจึงทำให้เราพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ได้ดีกว่า