คุณลักษณะของผู้นำในยุคการเปลี่ยนแปลง - กรณีของประเทศไทย

คุณลักษณะของผู้นำในยุคการเปลี่ยนแปลง - กรณีของประเทศไทย

ได้มีองค์กรระดับโลกหลายแห่งที่พยายามทำวิจัยเพื่อเสาะแสวงหาคุณลักษณะของผู้นำ เพื่อให้สามารถรองรับต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดเขึ้น

ข้อมูลที่ออกมาส่วนใหญ่ก็เป็นข้อมูลของโลกตะวันตก หรือเป็นระดับโลก ซึ่งอาจจะเหมาะ หรือไม่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย ล่าสุดผมและอาจารย์อีก 2 ท่านจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ (ผศ.ดร.พัชรา โพธิ์ไพฑูรย์ และ ดร.ณัตติฤดี เจริญรักษ์) กำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณลักษณะ และทักษะที่ผู้นำในระดับต่างๆ ขององค์กรในประเทศไทยควรจะมี ซึ่งจนถึงปัจจุบันผลการศึกษาเบื้องต้นได้ออกมาแล้วบางส่วน และเพิ่งมีการนำเสนอไปในงาน Flagship Summit 2018: Skills for the Future ที่เพิ่งจัด โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีแห่งการสถาปนาไปเมื่อวานนี้

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีคุณลักษณะของผู้นำ 3 ประการ ที่มีความสำคัญต่อการที่ผู้นำจะประสบความสำเร็จในโลกการเปลี่ยนแปลงที่เป็น VUCA เช่นในปัจจุบัน ได้แก่ การบริหารการเปลี่ยนแปลง การจูงใจทีมงานสู่ผลสัมฤทธิ์ และการคิด คุณลักษณะทั้ง 3 ประการไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่กลับยิ่งมีความสำคัญและความจำเป็นในยุคปัจจุบัน

ปัจจุบันองค์กรต่างๆ พยายามโหมกระแสเรื่องของ Transformation จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในคำฮิตประจำปีไปแล้ว อย่างไรก็ดี Transformation ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนในด้านดิจิทัลเทคโนโลยี หรือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กระบวนการ หรือ วิธีการเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของ Transformation คือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคน ต่อให้องค์กรมีการลงทุน หรือ อบรม สัมมนา เรื่อง Transformation เพียงใด แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคนได้ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการ Transform อย่างแท้จริง

จากผลการวิจัยเบื้องต้น จะพบว่าการที่ผู้นำจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างประสบผลสำเร็จนั้น จะต้องเริ่มจากการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม หรือ ภาพในอนาคตที่ทุกคนมองเห็นว่าเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้องค์กรดีขึ้นอย่างไร อีกทั้งยังพบว่าการเล่าเรื่อง (Story Telling) เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการนำวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เป็นที่เข้าใจและรับรู้ของคนในองค์กร ขณะเดียวกันในสถานการณ์ที่เป็น VUCA เช่นในปัจจุบัน ผู้นำจะต้องกล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะเสี่ยง ที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำในอดีต แม้สถานการณ์หรือข้อมูลจะคลุมเครือ และสุดท้ายเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงประสบผล ผู้นำจะต้องให้ความสำคัญกับผลสำเร็จมากกว่ากระบวนการ

สำหรับการจูงใจทีมงานสู่ผลสัมฤทธิ์นั้น จากการวิจัยจะพบว่าในองค์กรยุคปัจจุบันที่ประกอบด้วยคนหลากหลาย ช่วงอายุ ทำให้วิธีการจูงใจคน (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) จะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผลจากการวิจัย พบว่าในการจูงใจคนรุ่นใหม่นั้น ผู้นำจะต้องเน้นในเรื่องของการให้โอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งโอกาสในการเรียนรู้และการแสดงความสามารถ โอกาสในการออกแบบและวางแผนงาน หรือ โอกาสในการคิดและตัดสินใจงานที่รับผิดชอบ เท่านั้นยังไม่พอ ผลจากการวิจัยยังพบว่า ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถทำให้คนที่อยู่ด้วยรู้สึกสนุกกับการทำงาน รู้จักที่จะตั้งคำถามให้ผู้ฟังได้สะท้อนความคิด และ สำคัญสุดคือ จะต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง หรือ ที่เรียกว่า Leading by Example

สำหรับเรื่องของการคิดนั้น ก็มีสามประเด็นสำคัญที่พบจากการวิจัย ได้แก่ การคิดเป็นระบบ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และ คิดริเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากทั้งสามประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการคิดนั้น จะทำให้พบว่า การจะเป็นผู้นำสำหรับอนาคตนั้น จะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นมาเป็นพื้นฐานในการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรของตนเอง โดยการคิดสิ่งใหม่ๆ นั้น ก็ไม่ใช่คิดในลักษณะชิ้นส่วนย่อย แต่จะต้องสามารถมองเห็นความเชื่อมโยงและคิดออกมาอย่างเป็นระบบ

ผลการศึกษาทั้งหมดข้างต้น เป็นเพียงแค่ผลส่วนหนึ่งและเบื้องต้น ที่คณะผู้วิจัยกำลังศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำในอนาคต ในประเทศไทย แต่ก็น่าจะพอเป็นแนวทางสำหรับหลายๆ ท่านในการพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรของตนเองต่อไปได้นะครับ