กรุงเทพฯเมืองท้าทาย การขยายตัวอาคารสูง

กรุงเทพฯเมืองท้าทาย การขยายตัวอาคารสูง

กรุงเทพฯ เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากอาคารที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมแล้ว ยังมีอาคารสำนักงานที่เป็นอาคารสูงขนาดใหญ่อีก

ชีวิตของคนกรุงจึงถูกรายล้อมด้วยอาคารสูงขนาดใหญ่ที่มีบทบาททั้งการเป็นที่พักอาศัยรวมถึงเป็นที่ทำงานด้วยเช่นกัน

แม้ว่าจำนวนที่ดินในกรุงเทพมหานครจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่ยังพบการขยายตัวเกิดขึ้นของอาคารสูงขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า โครงการอาคารสำนักงานแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานครมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปี 2556 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2561 พบอาคารสำนักงานใหม่จำนวน 21 โครงการ รวมพื้นที่เช่ากว่า 610,000 ตารางเมตร โดยพบเปิดใหม่สูงสุด 6 โครงการ ในพื้นที่รัชดาภิเษก พื้นที่เช่ากว่า 190,000 ตารางเมตร รองลงมาเป็นพื้นที่สุขุมวิท 4 โครงการ จำนวนพื้นที่กว่า 120,000 ตารางเมตร พื้นที่เพลินจิต-ชิดลม 3 โครงการ จำนวนพื้นที่กว่า 115,000 ตารางเมตร จากข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการส่วนมากเน้นพัฒนาอาคารเกรดเอ และก็ยังมีการพัฒนาอาคารเกรดบีบ้างจำนวน 3 โครงการ 

ในขณะที่อาคารสูงกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันงานบริหารจัดการอาคารที่เน้นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตทั้งการพักอาศัยและการทำงานในอาคารสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความสะดวกสบาย และที่สำคัญคือ ความมั่นคงและปลอดภัยในทุกมิติ จึงส่งผลให้การบริหารจัดการอาคารสำนักงาน (Facilities Management) เข้ามามีบทบาทสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอาคาร 

โดยปัจจุบันในไทยส่วนใหญ่มักใช้การบริหารจัดการอาคารใน 2 รูปแบบหลักๆ คือการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะของตนขึ้นมาดูแลบริหารจัดการอาคารโดยเฉพาะ และอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมคือการจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาดำเนินการ เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะด้าน ซึ่งอาคารหรือโครงการใหม่ๆ ในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น มีระบบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพิ่มขึ้น การบริหารจัดการโดยมืออาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น อาคารสูงขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นใหม่ก็ยิ่งมีระบบที่ก้าวล้ำนำสมัยมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายของบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการอาคารสำนักงานที่ต้องปรับตัวเตรียมรับมือให้ทัน ซึ่งตัวแปรสำคัญมาจากเทคโนโลยีทั้งสิ้น ทั้งเรื่องของ Internet of Things (IoT), Robotic Process Automation (RPA), Artificial Intelligence (AI), Smart Building / Smart Workplace, Sensors and Monitoring ที่จะส่งผลสำคัญต่อความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้ ยกตัวอย่างเช่น IoT จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ทันสมัยภายในอาคาร เห็นได้ว่าปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ทั้งในรูปแบบการเป็นสวิตซ์เปิด/ปิด เช่น ไฟ หรือ แอร์ และยังสามารถตั้งเวลาสำหรับไฟหรืออุณหภูมิได้อีกด้วย พร้อมมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์กับโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น บริษัทต่างๆ จะมองหาการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดผลผลิต และให้ที่ทำงานน่าอยู่ เพื่อดึงดูดพนักงานให้อยู่กับองค์กรนานขึ้น 

นอกจากนี้ในด้านระบบการรักษาความปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการบริหารจัดการอาคารเช่นกัน โดยอาคารสำนักงานที่ปลอดภัย นอกจากจะต้องมีการออกแบบอาคารที่ดีแล้ว ยังต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันภัยที่ทันสมัย มีสมรรถนะพร้อมใช้งาน มีอุปกรณ์ประกอบตามกฎหมายในด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย มีการบริหารความปลอดภัยของอาคารที่ดีเพื่อลดการเกิดภัยพิบัติ ก็จะช่วยสร้างอาคารแห่งความปลอดภัยได้ครับ ยกตัวอย่างอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งบริหารจัดการอาคารโดยพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ที่ล่าสุดได้รับรางวัลอาคารโดดเด่นด้านความปลอดภัย ระดับ Silver จากสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร ก็สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการอาคารสำนักงานที่ได้มาตรฐาน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวอย่างอาคารที่มีความปลอดภัยสูง ช่วยสร้างบรรยากาศความน่าอยู่ในสถานที่ทำงานได้ครับ

การที่จะขับเคลื่อนการบริหารจัดการอาคารสูงในไทยให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยนั้น ผู้ให้บริการในด้านนี้จึงจำเป็นต้องเพิ่มทักษะด้านการจัดการอาคารและความปลอดภัย โดยเฉพาะความเป็นมาตรฐานที่มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการบริหารจัดการอาคารและการดูแลอาคาร ที่รวมถึงการซ่อมแซม การบำรุงรักษาสภาพโครงการ ตลอดจนการเพิ่มทักษะด้านการใช้และคิดค้นระบบเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้อาคารสูงในประเทศไทยเป็นอาคารแห่งความปลอดภัยเพื่อการทำงานและการอยู่อาศัยที่ปลอดภัยของทุกชีวิตในอาคารครับ