ชุมชนนักอนาคตศาสตร์ไทย

ชุมชนนักอนาคตศาสตร์ไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ที่มีชื่อว่า “การใช้เครื่องมือการมองอนาคต Foresight”

ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรมที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้นมา ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การมองอนาคตนวัตกรรม และการสร้างชุมชนของนักอนาคตศาสตร์ขึ้นมาในประเทศไทย

ก็เลยขอนำเกร็ดความรู้ต่างๆ มานำเสนอให้ผู้อ่านคอลัมน์ในฉบับนี้ได้รับทราบในวงกว้าง

ศาสตร์ของการมองอนาคต ที่เรียกว่า Foresight มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง ฉากทัศน์ หรือ ภาพของอนาคต ขึ้นมา และหาวิธีการที่เป็นไปได้ว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะไปถึง ฉากทัศน์ ในอนาคตที่สร้างขึ้นมาได้

อาจเรียกได้ว่า เป็นศาสตร์ที่จะนำไปสู่การสร้างอนาคค ให้เป็นไปตามที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การมองอนาคต” มาจากศัพท์คำว่า Foresight ซึ่งจะแตกต่างไปจากวิธีการพยากรณ์อนาคตที่เราคุ้นเคยกันมาในอดีต โดยเฉพาะการพยากรณ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นในอดีตย้อนหลัง แล้วนำสูตรคณิตศาสตร์สถิติ มาทำนายแนวโน้มของผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ใช้ศัพท์เรียกว่า การ Forecast

ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการพยากรณ์นั้น จะทำให้เกิดขึ้นให้เป็นจริงได้อย่างไรได้อย่างไร

เนื่องจากการพยากรณ์อนาคตโดยการใช้ข้อมูลนี้ เป็นวิธีการเชิงเส้น โดยการลากเส้นต่อเชื่อมของข้อมูลในอดีต แล้วต่อยอดเส้นของผลในอดีตนั้นขีดต่อไปในอนาคต โดยมีสมมติฐานว่า อนาคตนั้นจะถูกกำหนดโดยพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในอดีต

เทคนิคการพยากรณ์แนวโน้มอนาคตนี้ ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถนำไปใช้ได้ผล มาโดยตลอดในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผลันและรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน ทำให้นักวิชาการต้องแสวงหาเครื่องมือที่ใหม่กว่า มาใช้ในการมองการเปลี่ยนแปลงอนาคต

Foresight หรือ การมองอนาคต ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความนิยม และมีการนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการเตรียมกลยุทธ์สำหรับรับมือกับอนาคต ทั้งสำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ทางด้านโยบายในภาครัฐ และสำหรับการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจในระดับบริษัท เพื่อการสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท

ในการทำ Foresight นักอนาคตศาสตร์ จะนำเครื่องมือต่างๆ ที่มีใช้กันอยู่ในการสร้างยุทธศาตร์ หรือการสร้างกลยุทธ์ โดยในการสัมมนาเชิงวิชาการที่กล่าวถึงนี้ ได้รวบรวมและแนะนำวิธีการนำเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการมองอนาคต

เครื่องมือที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างวิสัยทัศน์ (Visioning), เทคนิคเดลไฟ (Delphi Technique), การสร้างและวิเคราะห์ฉากทัศน์แห่งอนาคต (Future Scenario Building), การสร้างต้นแบบจากนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction Prototyping), การวิเคราะห์แนวโน้มและแนวโน้มใหญ่ (Trends and Megatrends Analysis), การสร้างแบบจำลองและการจำลองสถานการณ์ (Modeling and Simulation), การพยากรณ์ย้อนหลัง (Backcasting), แผนที่เทคโนโลยี (Technology Roadmap) และ การวัดและประเมินจำนวนผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการ (Bibliometrics)

เครื่องมือต่างๆ ที่กล่าวมานี้ มีทั้งที่พอเคยได้ยินมาบ้าง และเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจเรียนรู้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีสำหรับผู้สนใจในศาสตร์ของการมองอนาคต

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ให้ความรู้และสร้างชุมชนของผู้ที่สนใจในอนาคตศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การสร้างฉากทัศน์อนาคตของประเทศไทย หรือฉากทัศน์อนาคตของตลาดและผู้บริโภค เพื่อให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนได้มีเครื่องมือใหม่ๆ มาเป็นแนวทางในการนำองค์กรไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง

เครื่องมือการมองอนาคต หรือ Foresight ยึดถือแนวคิดที่ว่า การคาดการณ์อนาคตที่ดีที่สุด คือการออกแบบล่วงหน้าแล้วสร้างมันให้เป็นความจริงขึ้นมาให้ได้