การเมืองกับประชานิยม

การเมืองกับประชานิยม

ใครที่ได้ฟังเพลงใหม่ของ บาร์บรา สไตรแซนต์(Barbra Streisand) ที่ชื่อว่า “Don’t lie to me” หรือ “อย่าโกหกฉัน” คงรู้สึกชอบทันที

ทั้งความเพราะของเพลงและสาระที่ดีของเนื้อร้อง ที่แสดงความผิดหวังต่อการเมืองในสหรัฐ โดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เนื้อเพลงเรียกร้องให้เขาพูดความจริงในฐานะผู้นำประเทศ และตั้งคำถามว่า ประธานาธิบดีนอนหลับได้อย่างไร เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พยายามสร้างขึ้นมา ซึ่งหมายถึงระบบประชาธิปไตยในสหรัฐ กำลังถูกทำลายลงและโลกกำลังลุกเป็นไฟด้วยสิ่งที่เขาทำ เป็นคำถามที่แสดงถึงความเจ็บปวดและความผิดหวังของคนอเมริกันต่อสถานการณ์ของประเทศขณะนี้

ปรากฎการณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ชนะเลือกตั้ง เมื่อสองปีก่อน และสามารถผ่านการเลือกตั้งกลางสมัยได้อย่างน่าพอใจเมื่อเดือนที่ผ่านมา สะท้อนชัดเจนถึงการเติบโตและอันตรายของการเมืองแบบประชานิยม ประธานาธิบดีทรัมป์ ถือเป็นสัญลักษณ์ตัวเอ้ของการเมืองแบบนี้ ที่มุ่งทำนโยบายเอาใจประชาชน เพื่อให้ได้คะแนนเสียง ให้ได้อำนาจ แสดงตนเป็นผู้แทนประชาชนที่แท้จริง ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ที่ผิดหวังต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและการเมืองสหรัฐ ที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่ดีขึ้น แต่กลับแย่ลงและความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมีมากขึ้น ชี้นิ้วความผิดพลาดไปที่ความเห็นแก่ตัวของกลุ่มอีลิต(elites) หรือชนชั้นผู้นำที่ทำนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมและโลกาภิวัฒน์ ที่คนในประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ คือเศรษฐกิจโตแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีขึ้น เกิดเป็นความผิดหวัง

ในกรณีสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์ สามารถฉกฉวยโอกาสอย่างชาญฉลาดกับความผิดหวังเหล่านี้ โดยประกาศจะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสหรัฐโดยนโยบายที่เน้นผลประโยชน์สหรัฐต้องมาก่อน แม้การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะขัดกับหลักทางสากล หรือทำลายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่สหรัฐเคยเป็นผู้นำและเป็นพันธมิตรกันมาก่อน เช่น ปิดกั้นการขออพยพเข้ามาทำงานหรือลี้ภัยในสหรัฐ ทำสงครามการค้ากับจีนเพื่อลดการขาดดุลการค้า ออกนโยบายให้บริษัทสหรัฐย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศกลับสหรัฐเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ลดความร่วมมือทางการค้าที่สหรัฐมีกับกลุ่มการค้าเสรีต่างๆ รวมถึงลดบทบาทของสหรัฐในองค์กรนาโต้ สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากนโยบายประชานิยมที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้สัญญาไว้ตอนหาเสียงเมื่อสองปีก่อน เพื่อเอาใจคนอเมริกันที่ผิดหวังกับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศขณะนั้น แต่ในสายตาคนอเมริกันอีกจำนวนมาก นโยบายเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายต่อระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยืนยันที่จะทำนโยบายเหล่านี้ต่อไป โดยให้เหตุผลแบบพูดข้างเดียว เหมือนไม่ยอมพูดความจริง ทำให้สหรัฐขณะนี้เป็นประเทศที่คนในประเทศแตกแยกมาก นี่คืออันตรายของการเมืองแบบประชานิยม ที่การดำรงอยู่ในตำแหน่งของผู้นำสร้างต้นทุนความเสียหายต่อประเทศ

ในกรณีบ้านเรา ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในอีกสามเดือนข้างหน้า ก็มีบริบทความผิดหวังคล้ายๆ กัน ซ่อนอยู่ในความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ผิดหวังกับการเมือง ผิดหวังกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าได้ประโยชน์ ตรงกันข้ามประโยชน์ตกอยู่กับคนส่วนน้อย โดยเฉพาะบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาล ใกล้ชิดการทำนโยบาย ส่งผลให้การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น คนส่วนใหญ่จึงผิดหวังและมองหาทางออกที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประเทศ

แม้ความรู้สึกของคนจำนวนมากจะเป็นแบบนี้ แต่การเมืองในบ้านเราก็ดูจะเป็นแบบเดิม โดยผู้เล่นกลุ่มเดิมๆ ที่ดูจะไม่ตระหนักหรือสนใจความรู้สึกของประชาชนว่า ขณะนี้ประชาชนรู้สึกอย่างไรกับปัญหาประเทศ วุ่นอยู่แต่กับการย้ายพรรคเพื่อให้ได้ลงเลือกตั้งเป็นส.ส. ร่วมรัฐบาล ไม่ได้มีนโยบายหรือแนวคิดชัดเจนว่า จะแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่มากอย่างไร ยังเป็นการเมืองเพื่อการมีอำนาจทางการเมือง และใช้อำนาจการเมืองหาประโยชน์เมื่อเป็นรัฐบาล

ข้อสรุปนี้เห็นได้ชัดเจนจากนโยบายใหม่ที่ออกมา ที่มุ่งเอาใจประชาชนเพื่อหวังคะแนนเสียงการเลือกตั้ง หวังคะแนนเสียงจากผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับเงินโอนเพิ่มจากภาครัฐเป็นเวลาสิบเดือน หวังว่า ผู้มีรายได้น้อยจะชอบและลงคะแนนให้ มีการเร่งออกโครงการลงทุนเพื่อให้มีการประมูล เช่น โครงการรถไฟเชื่อมสนามบิน ที่ผู้เข้าประมูลล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศที่อาจจะเคยหรือไม่เคยทำธุรกิจรถไฟมาก่อน แต่ต้องการขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในธุรกิจอื่นๆ เพื่อหาประโยชน์จากโอกาสที่รัฐเปิดให้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสและจะไม่ได้ประโยชน์ นี่คือประชานิยมแบบไทยๆ

ในทั้งสองกรณีจะเห็นว่า ไม่ว่าประชานิยมแบบทรัมป์หรือประชานิยมแบบไทยๆ สามารถนำไปสู่การทำนโยบายที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและประเทศได้ จากการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐที่ไม่มีการตรวจสอบ และมักเกิดขึ้นเพราะ หนึ่ง นักการเมืองมองว่าทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาษี เงินที่รัฐกู้มา หรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่มีเจ้าของ อำนาจการเมืองที่มากับตำแหน่ง สร้างโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสามารถถลุงทรัพยากรเหล่านี้ได้ และสิ่งเหล่านี้จะทำได้ง่ายและดูมีน้ำมีเนื้อ ถ้ามีข้าราชการประจำร่วมมือด้วย ช่วยแนะช่องทางให้ เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ทำได้ ความสูญเสียของประเทศจากเรื่องเหล่านี้ นับวันจะรุนแรงและมีมากขึ้นเรื่อยๆ

สอง เพราะกระบวนการทำนโยบายสาธารณะของประเทศอ่อนแอ ไม่มีการศึกษา ตรวจสอบข้อเท็จจริงและทางเลือกต่างๆ ในแง่การคัดเลือกนโยบายหรือโครงการที่จะให้ประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม แต่มาจากการสั่งการของฝ่ายการเมืองสนองตอบโดยระบบราชการ อนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี และถูกนำไปปฏิบัติโดยฝ่ายราชการร่วมกับบริษัทเอกชน ไม่มีการตรวจสอบ หรือรับรู้จากภายนอก ที่สำคัญไม่มีข้อมูลว่า ค่าใช้จ่าย หรือเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้น รัฐจะหามาจากไหน จะสร้างภาระผูกพันให้กับฐานะการคลังของประเทศในอนาคตอย่างไร ดังนั้นตราบใดที่กระบวนการทำนโยบายไม่โปร่งใส ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ ไม่มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของนโยบายอย่างจริงจัง เราจะเห็นแต่นโยบายประชานิยมในการดำเนินนโยบายของประเทศ เพื่อผลของการเลือกตั้งและประโยชน์ของคนส่วนน้อยมากกว่าเพื่อสร้างอนาคตของประเทศที่เข้มแข็งให้แก่ส่วนรวม

ทำให้ประเทศไทย คนไทย ประเทศสหรัฐ คนอเมริกัน เสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย