การสร้างประชาธิปไตยได้ต้องทำมากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.

การสร้างประชาธิปไตยได้ต้องทำมากกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.

การจะสร้างประชาธิปไตย ระบบการปกครองเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ได้ ไม่ได้อยู่แค่การจัดการเลือกตั้ง สส. เพื่อรัฐบาลและฝ่ายค้านเท่านั้น

 จะต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปภาษี, งบประมาณและอื่นๆ เพื่อให้เกิดการกระจายทรัพย์สินและรายได้เป็นธรรมขึ้น ต้องสร้างประชาธิปไตยทางสังคม-ปฏิรูปการศึกษา สื่อมวลชน การจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน เช่นสหภาพแรงงาน สหพันธ์เกษตรกร สมาคมวิชาชีพ สหกรณ์ ฯลฯ ที่มีองค์ความรู้และมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ควบคู่กันไปด้วย

พลเมืองและสัญญาประชาคม

การจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องปฏิรูปวัฒนธรรมการเรียนรู้และวัฒนธรรมการเมืองทำให้คนไทยฉลาดพอที่ก้าวข้ามกรอบความคิดความเชือ่แบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม และจารีตนิยมซึ่งอยู่ตรงกันข้าม เป็นอุปสรรคต่อความคิดเสรีประชาธิปไตย ที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางโอกาสของประชาชน

การปฏิรูปทางวัฒนธรรมการเมืองน่าจะเริ่มจากการปฏิรูปการศึกษาและการรณรงค์เผยแพร่ความรู้  ความคิด ให้ประชาชนตระหนักว่าเราต่างเป็นพลเมือง คือเลือกมาอยู่ในเมือง ยอมรับการปกครองของรัฐบาลเพราะเรามี “สัญญาประชาคม” ร่วมกันกับผู้ปกครองว่าพลเมืองเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติสาธารณะ ทั้งรัฐวิสาหกิจ คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ ฯลฯ และเป็นผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม (ผ่านการซื้อสินค้าต่างๆ) ให้รัฐบาลมีงบประมาณไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมดในสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ถือหุ้นบริษัทประเทศไทย

ถ้ารัฐบาลทำหน้าที่บริหารจัดการปกครองไม่ได้ดีตามสัญญาประชาคม พลเมืองมีสิทธิโดยชอบธรรมเข้าชื่อยื่นถอนถอน ชุมชุนคัดค้าน และรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยสันติวิธี พลเมืองมีสิทธิดื้อแพ่งที่จะไม่เชื่อฟัง ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉลและใช้อำนาจบาตรใหญ่ เพื่อการคานอำนาจ การตรวจสอบดูแลระบบการบริหารและการออกกฎหมายของประเทศให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ถือหุ้นทั้งหมด

คำว่า “สัญญาประชาคม” มีความหมายว่า ทั้งฝ่ายประชาชนและผู้ปกครองมองเห็นว่าแต่ละฝ่ายต่างมีหน้าที่และการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างค่อนข้างเป็นธรรม ถึงไม่ได้มีการเซ็นสัญญากันจริง แต่รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ การที่รัฐบาลไปเซ็นรับรองกฎบัตรสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก และนโยบายที่รัฐบาลประกาศใช้ก็คือ การที่ผู้ปกครองให้สัญญาประชาคมว่าจะต้องทำอะไรเพื่อคนทั้งประเทศบ้าง และการที่ประชาชนยอมทำหน้าที่พลเมืองในการเสียภาษี เชื่อฟังกฎหมาย ผู้ชายไปเกณฑ์ทหาร ฯลฯ ก็เพราะพลเมืองเชื่อหรือคาดหมายว่าผู้ปกครอง(ผู้กินเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน)ควรบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของพลเมืองส่วนใหญ่และช่วยเหลือให้พวกเขาอยู่เย็นเป็นสุข นี่คือสัญญาประชาคมที่ 2 ฝ่ายสัญญาต่อกัน

ให้พลเมืองเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจและเรียนรู้ประชาธิปไตยจากภาคปฏิบัติ

ประชาชนทุกคนควรได้รู้ว่างบประมาณที่รัฐบาลใช้บริหารประเทศล้วนมาจากภาษีและรายได้จากการให้สัมปทาน การหารายได้จากสาธารณสมบัติและรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นของส่วนรวมหรือของประชาชนร่วมกัน ประชาชนในฐานะพลเมืองทุกคนล้วนมีสิทธิและโอกาสที่จะได้รับบริการการศึกษา สาธารณสุข บริการด้านสาธารณะ และโครงการพัฒนาต่างๆ จากรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (การเขียนสิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ประชาชนที่ยากจนไม่ค่อยมีโอกาสได้สิทธินั้นจริง เรียกว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตยจริง)

การที่รัฐบาลต้องให้บริการการศึกษา สาธารณสุข และบริการสาธารณูปโภคในด้านต่างๆ ที่เป็นสิทธิที่พลเมืองควรได้ พลเมืองไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณหรือรู้สึกว่าเป็นผู้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ผู้ปกครองคนใดหรือพรรคใด (ถ้านักการเมืองให้อะไรเราก็ควรถือว่าเขาเอาของเรามาคืนเท่านั้น)นักการเมืองและข้าราชการรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภทที่กินเงินเดือนและใช้ทรัพยากรจากภาษีประชาชนต่างหากที่ควรจะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของพลเมือง เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้บริการอย่างชื่อตรงและพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจการเมืองสังคมของประเทศให้เข้มแข็ง แข่งขันกับคนอื่น ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่รัฐและลูกหลานจะได้ประโยชน์ในระยะยาว  มากกว่าการทำให้คนส่วนน้อยรวยแต่คนส่วนใหญ่ยากจน ที่จะทำให้ทั้งประเทศตกต่ำ

การจะช่วยให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงความคิดถึงตัวเองจากการเป็นไพร่ฟ้าข้าราษฎรเป็นพลเมืองผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของสาธารณสมบัติผู้มีสิทธิมีศักดิ์ศรี ต้องส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้จากภาคปฏิบัติในชีวิตจริงด้วย  เช่น ในครอบครัว ควรเลี้ยงดูลูกอย่างทำความเข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของเด็กและอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วยเหตุด้วยผล ส่งเสริมให้เด็กมีความภูมิใจในตัวเองและมีจิตสำนึกเป็นพลเมืองที่รักชุมชนและประเทศชาติ เห็นแก่ส่วนรวม  คิดตัดสินใจเป็น

ในสถาบันการศึกษา ต้องปฏิรูปครูอาจารย์ให้เป็นคนใจกว้างรับฟังความต้องการ ความแตกต่างทางความคิดของผู้อื่น เคารพสิทธินักเรียน นักศึกษาส่งเสริมให้พวกเขาคิดตัดสินใจ จัดให้มีการเลือกหัวหน้าชั้น มีสภานักเรียนสภานักศึกษา สภาคณาจารย์ สมาคมผู้ปกครอง  คณะกรรมการสถานศึกษาและสภามหาวิทยาลัยที่มีการเลือกสรรอย่างเป็นประชาธิปไตยมีตัวแทนนักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ และบุคลากร ผู้ปกครอง และผู้นำในชุมชนรวมอยู่ด้วย

การจะปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพได้ ควรแก้ไขกฎหมายและโครงสร้างการบริหารให้คณะกรรมการและผู้บริหารสถานศึกษามีสิทธิอำนาจและบทบาทเพิ่มขึ้น และลดอำนาจรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงกระทรวงศึกษา ลง โดยควรให้เป็นเพียงผู้ประสานงาน ผู้ส่งเสริมมาตรฐานและการประกันคุณภาพมากกว่าผู้สั่งการจากบนลงล่าง และ ต้องปฎิรูปคุณภาพครูอาจารย์และผู้บริหารสถานศึกษาทั่วประเทศกันอย่างขนานใหญ่

ในที่ทำงาน ผู้นำควรบริหารงานแบบประชาธิปไตยที่พนักงานมีส่วนร่วม ส่งเสริมให้พนักงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหกรณ์ออมทรัพย์ และให้พนักงานมีตัวแทนเข้าร่วมในคณะกรรมการนโยบายและบริการของบริษัทและองค์กรต่างๆ 

ในชุมชน  ควรส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์ประเทศต่างๆ สมาคมอาชีพ สภาชุมชนขนาดเล็กระดับหมู่บ้านหรือกลุ่มบ้านที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมถกปัญหาและลงมติได้ สภาชุมชนขนาดเล็กทำให้ประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยระดับรากหญ้าได้ดีที่สุด ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลและจังหวัดควรปฏิรูปให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ผู้บริหารและสภาเป็นอิสระมีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ลดอำนาจการบริหารภูมิภาคจากมหาดไทยลงจนยกเลิกไปในที่สุด

ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งและการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ โปร่งใสเพิ่มขึ้น เช่น จัดให้มีการประชุมใหญ่ ที่เปิดให้คนทั้งชุมชนเข้ามาร่วมประชุมได้ทุก 3-6 เดือน เพื่อถกเถียงเรื่องงบประมาณ แนวทางแก้ไขปัญหาการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  ซักถามตรวจสอบเรื่องการดำเนินงานฝ่ายบริหารได้ การทำประชาพิจารณ์ และการลงประชามติในเรื่องที่สำคัญ รวมทั้งต้องให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ กกต จัดการออกเสียงลงประชามติถอดถอนผู้บริหารและผู้แทนจากการเลือกตั้งที่ส่อว่าทุจริตฉ้อฉล รำรวยผิดปกติ  ทำงานขัดต่อกฎระเบียบและจริยธรรมได้ เพื่อทำให้นักการเมืองแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวได้ยากขึ้น ต้องทำงานเพื่อประชาชนพลเมืองเพิ่มขึ้น