เสรีภาพในการแสดงออก มุมมองจากยุโรป

เสรีภาพในการแสดงออก มุมมองจากยุโรป

ระหว่างรอการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในปีหน้า ทำให้ช่วงนี้ได้เห็นพรรคการเมืองใหม่ๆ (อาจเป็นพรรคการเมืองเดิมในชื่อใหม่ๆ ก็เป็นได้)

นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ รวมทั้งคนหนุ่มสาวที่เข้ามาในเวทีการเมืองออกมาโชว์ตัวและแสดงวิสัยทัศน์กันอย่างกว้างขวาง ก็ดีใจที่ได้เห็นความคืบหน้าของประเทศไทยเดินหน้าไปในทิศทางนี้ คือ การมุ่งไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า ที่หวังว่าจะบริสุทธิ์ มีความเป็นธรรม และอยู่ในกรอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) นานาชาตินั้นจับตาดูอยู่

แต่เรื่องที่เป็นที่น่าจับตาของนานาชาติอีกประเด็นหนึ่ง คงเป็นประเด็นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคล ให้ความสนใจและยกขึ้นในการพบปะกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ฯ ในระหว่างการเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว คือ การให้เสรีภาพพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ฯ ได้ยืนยันว่า “เราให้มาโดยตลอด ไม่ได้มีการปิดกั้นใครทั้งสิ้น” และ “ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ได้กล่าวถึงประเด็นประชาธิปไตยในที่นี้” (ที่มา นสพ. กรุงเทพธุรกิจ 29 พ.ย. 2560 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/819895 )

จึงอยากมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องนี้ในยุโรป ล่าสุดได้ฟังวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล ที่พูดเมื่อเดือนก่อนในงานเสวนาทางการเมืองหัวข้อ Germany: the Next Chapter จัดโดยมูลนิธิ  Konrad-Adenauer-Stiftung ณ กรุงเบอร์ลิน (ไม่เกี่ยวกับการพบปะของนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแต่อย่างใด) ซึ่งเธอก็เน้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการสร้างรากฐานของระบอบประชาธิปไตย เธอมองว่า ประเทศต่างๆ รวมทั้งเยอรมนีและประเทศในยุโรปต่างต้องปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ๆ ในยุค Digitalisation อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบบที่นายกรัฐมนตรีหญิงเยอรมนีเรียกว่า “Change in a culture of debate” และการรักษาไว้ซึ่ง “Freedom of Speech” เป็นหัวใจสำคัญ เธอไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงถึงประเทศไหนเลย แต่บอกว่ามันสำคัญต่อประเทศของเธอ

จริงๆ อย่างที่เธอว่า เรากำลังอยู่ในโลกดิจิตอลที่ การแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน นั้นเปลี่ยนไป เกิดขึ้นในหลากหลายช่องทาง แบบปิดกั้นไม่ได้ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน และสร้างบทบัญญัติกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก เพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง และการมีสิทธิที่จะแสดงความต่างนั้นเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลง และการยอมรับความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายที่ในหลายประเทศทั่วโลกการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ซึ่งคงต้องรวมถึงของพรรคการเมือง นักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปด้วย) กลับถูกปิดกั้นและจำกัด ด้วยเงื่อนไข (หรือจะเรียกว่าข้ออ้างดี) ต่างๆ นานา

เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิที่เราสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่าย ภาพกราฟฟิกหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ  นอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิในการค้นคว้า หา เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่ด้วย ในระดับปัจเจกบุคคล เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกทำให้คนแต่ละสามารถแสดงตัวตน แม้เป็นไปด้วยความแตกต่างจากคนอื่นและปทัสถานของสังคมนั้น (ที่มา iLaw)

องค์กร  Amnesty International Thailand มองว่า “ความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคมให้รุ่งเรืองและมีความสุข แต่ปัจจุบัน พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกของคนทั่วโลกกำลังลดลงอย่างมาก กฎหมายหลายฉบับออกมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพที่จะคิด พูด พิมพ์ หรือเขียน ...จนดูเหมือนว่าเสรีภาพในการแสดงออกกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทั้งในไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก”

ในยุโรป เสรีภาพในการแสดงออกและการพูดไม่ได้เป็นเพียงค่านิยม แต่เป็นสิทธิหลักในระบอบประชาธิปไตย ในไทย เรายังต้องสร้างสร้างบทบัญญัติกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ให้เสรี (กว่านี้) ไม่จำกัด ไม่ปิดกั้น ไม่สร้างเงื่อนไขที่มากมายเกินไป และต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่แห่งการยอมรับความแตกต่างในสังคม ไม่เช่นนั้น การเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่ จะไม่นำอะไรใหม่มาให้ประเทศได้เลย

โดย.... 

ดร. อาจารี ถาวรมาศ

Access-Europe (www.access-europe.eu)

[ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd]