โอกาสจากเศรษฐกิจสูงวัย

โอกาสจากเศรษฐกิจสูงวัย

สังคมผู้สูงวัยจะผลักดันให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ

โครงสร้างประชากรญี่ปุ่นที่เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงวัยดังที่รับทราบกัน ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เงินฝากในระบบมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านบาทที่ไม่สามารถนำมาหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจได้ เนื่องจากเจ้าของบัญชีชราภาพจนพึ่งพาตัวเองไม่ได้

ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเต็มที่ นับตั้งแต่การจ้างงาน จัดหางาน จัดสรรโควต้าให้กับผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นในงานหลายๆ ประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะขั้นสูงเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องและเป็นการให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ที่กำลังจะมีมากขึ้นในอนาคต

ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ทุกวันนี้เรารู้สึกเหมือนโลกหมุนเร็วขึ้น เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วขึ้นทั้งๆ ที่แต่ละวันก็มี 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม

ทว่าทำไมจึงสร้างการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วขนาดนี้ โครงสร้างประชากรที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอดหลายสิบปี ทำไม่จึงกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยไปได้ในทุกวันนี้ ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าหวั่นใจ

แต่ท่ามกลางความหวาดหวั่นและความไม่มั่นใจในอนาคต ผมกลับเชื่อว่าสังคมผู้สูงวัยจะผลักดันให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ที่เราจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปปรับใช้เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเติบโตอีกมหาศาล

ที่สำคัญแนวโน้มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่น แต่กำลังกลายเป็นแนวโน้มในระดับโลก เพราะยุโรปและอเมริกาก็มีโครงสร้างประชากรที่แตกต่างไปไม่มากนัก รวมถึงประเทศไทยก็หนีแนวโน้มดังกล่าวไปไม่พ้นเช่นกัน

เห็นได้จากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่แต่งงานช้า มีลูกยาก จนทำให้เด็กเกิดใหม่น้อยมาก ยุโรปมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันในอีก 30-50 ปีข้างหน้าเพราะอัตราการเกิดน้อยในขณะที่มีจำนวนผู้อพยพจากหลายประเทศโดยเฉพาะในเขตแอฟริกาเหนือทะลักเข้าไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายๆ ประเทศอ้าแขนรับเพราะต้องการประชากรในวัยแรงงานเพิ่มขึ้น

แต่หากโครงสร้างประชากรของยุโรปเปลี่ยนไปเช่นนี้ ก็อาจจะได้เห็นประธานาธิบดีของยุโรปในอนาคตที่ไม่ใช่ชาวยุโรปผิวขาวเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจินตนาการของชาวยุโรปในปัจจุบัน เพราะการเปิดรับผู้อพยพไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องมนุษยธรรมหรือผลประโยชน์ด้านแรงงานก็ล้วนสร้างผลกระทบในระยะยาวด้วยกันทั้งนั้น

ไม่มีใครคาดคิดว่าอีก 50 ปีข้างหน้าลูกหลานของผู้อพยพกลุ่มนี้อาจกลายเป็นผู้นำประเทศของเขา เพราะอัตราการเกิดของผู้อพยพสูงกว่าชาวยุโรปดั้งเดิมหลายเท่า โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจึงไม่ได้กระทบเพียงแค่เศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลถึงสังคมและการเมืองด้วย

สำหรับญี่ปุ่นนับว่ามีการวางแผนรับมือกับเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพราะแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น ผลักดันให้กลายเป็นประเทศชั้นนำในการสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จนทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญ

การปรับตัวดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นกับทุกๆ ส่วนในสังคมญี่ปุ่น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคนไทยก็คือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลกว่า 20 ล้านคน

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มากขนาดนี้ ทำให้วิถีชิวิตคนญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ก็ดูเหมือนพวกเขาจะยอมรับมันได้ เช่น เรื่องการขาดแคลนสินค้าหลายๆ รายการในซุปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนกับเกิดภัยพิบัติขึ้นในเมืองจนประชาชนต้องรีบกักตุนสินค้าจำเป็น ทว่าชาวญี่ปุ่นไม่ได้เป็นผู้กักตุนสินค้า แต่กลายเป็นชาวจีนนี่เองที่กว้านซื้อสินค้าหลายประเภทกลับไปเป็นของฝาก

หันกลับมาที่บ้านเราที่ต้องหาหนทางของเราให้พบ เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นจับจุดได้สำเร็จ อย่ามัวหลงอยู่กับความเป็นมาของบริษัทที่อยู่มาหลายสิบปี เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่าจะคงความสำเร็จต่อไปได้อีกในอนาคต