พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่กับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่กับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ในปัจจุบันชีวิตของคนเราต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมากขึ้นกว่าก่อนมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่พัฒนา

จนกระทั่งกลายเป็นส่วนสำคัญ ทำให้ชีวิตของผู้คนสะดวกและรวดเร็วขึ้น

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมีการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมากขึ้นก็เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตในการก่ออาชญากรรมในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมได้ ในขณะที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่มีอยู่เดิมนั้นได้ใช้บังคับมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จึงเริ่มล้าสมัยไม่เท่าทันเทคโนโลยีและภัยคุกคามต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ขึ้นเพื่อแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิมในบางเรื่อง

แม้ว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ตราขึ้นจะยังคงโครงสร้างหลักๆ ของกฎหมายเดิมเอาไว้ แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะอุดช่องโหว่ในกฎหมายเดิมหลายประการ เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัยเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ก็ยังมีถ้อยคำที่เป็นปัญหาในการตีความและการนำไปบังคับใช้อยู่หลายประเด็น ซึ่งความไม่ชัดเจนของถ้อยคำเหล่านั้นอาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์และนำไปสู่การลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้

ประเด็นแรก ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 20 กรณีที่จะขอให้ศาลสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้นั้น มีถ้อยคำที่เชื่อมโยงไปถึงคำว่า ศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าการกระทำเช่นใดที่ถือว่าขัดต่อศีลธรรมอันดี จึงเป็นเรื่องที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องวินิจฉัยด้วยดุลพินิจของตนเอง ทำให้คำว่าศีลธรรมอันดีต้องขึ้นอยู่กับการตีความและความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นเรื่องยากในการหาตัวชี้วัดที่มีมาตรฐานและความชัดเจนที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันได้

นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่เรื่องศีลธรรมอันดีนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากผู้บังคับใช้กฎหมายใช้อำนาจของตนโดยไม่ชอบหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ ก็อาจทำให้มีการใช้ถ้อยคำดังกล่าวในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคมจนเป็นเหตุให้เกิดการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

ประเด็นที่สอง ตามมาตรา 14 (1) ความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน คำว่า บิดเบือนไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน และไม่มีบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่แน่นอนตายตัวว่าจะต้องตีความอย่างไร จึงยากที่ประชาชนหรือแม้กระทั่งนักกฎหมายจะเข้าใจได้ว่า การนำเสนอข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นแบบใดจะเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1) โดยเฉพาะการวิเคราะห์สถานการณ์ การคาดการณ์อนาคต การวิจารณ์โดยใส่ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากข้อเท็จจริง ย่อมเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีได้ว่าบิดเบือนหากผู้ถูกวิจารณ์ไม่พอใจต่อความคิดเห็นเหล่านั้น แม้ว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจจะไม่ถึงกับเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยตรง ซึ่ง ข้อมูลเท็จก็เป็นความผิดอยู่แล้วตามกฎหมายเดิม การเติมคำว่าที่บิดเบือนเช่นนี้ ทำให้มาตรา 14 (1) ถูกเขียนให้ตีความได้กว้างขึ้นมาก ห่างไกลออกไปจากเจตนารมณ์เดิมจนอาจทำให้ผู้ใช้อำนาจนั้นใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการก้าวล่วงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

แม้ว่าการแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี้ มุ่งจะปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและเท่าทันกับเหตุการณ์ในยุคสมัยปัจจุบันมากยิ่งขึ้น รวมถึงการอุดช่องโหว่ในกฎหมายเดิมและเพิ่มโทษในกฎหมายใหม่ทำให้กฎหมายใหม่มีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้จริงยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนในกฎหมายใหม่นั้นก็ยังมีช่องว่างที่จะทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจใช้อำนาจจนเกินขอบเขตจากการใช้ดุลยพินิจของตนตีความถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนดังกล่าว

กล่าวโดยสรุป ปัญหาของกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้คือ การขาดหลักประกันใดๆ ว่าการตีความถ้อยคำที่มีความหมายไม่ชัดเจนแน่นอนดังกล่าวนั้นจะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้เพียงใด หรือในทางตรงกันข้าม จะเปิดโอกาสให้ตีความไปในทางที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงหากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนี้ในอนาคตต่อไป

 โดย... 

ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน

บุณยนุช คำพล และเมธิณี เพชรขาว

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์