เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่

เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่

ณ ปัจจุบันไม่มีใครที่ไม่รู้จักเอ็นจีโอหรือ NGOs ซึ่งย่อมาจาก Non Governmental Organizations ซึ่งแปลตรงตัว คือ องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐ

และรู้จักกันในอีกหลากหลายชื่อ เช่น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) แต่ความรับรู้ของผู้คนต่อ เอ็นจีโอหรือนักพัฒนาทั้งหลายนั้นน่าสนใจยิ่ง เพราะเมื่อหันไปถามภาครัฐและคนในสังคมบางส่วน เอ็นจีโอยังคงถูกมองว่ารับเงินต่างชาติมาทำลายความมั่นคงของประเทศ ขัดขวางการพัฒนาประเทศ เป็นพวกชอบสร้างปัญหา ก่อความปั่นป่วน หรืออาจเลยเถิดถึงขั้นอยู่เบื้องหลังม็อบทั้งหลาย

แต่หากไปถามนักวิชาการ สื่อมวลชน พวกประชาสังคมกลับมองอีกแบบหนึ่ง โดยมองว่าเอ็นจีโอทำงานผลักดันแก้ไขปัญหา แก้ไขโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ช่วยเสริมความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาชน เป็นนักรณรงค์ทางสังคม เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ นักเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น สังคมประชาธิปไตยต้องมีเอ็นจีโอ มีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้นที่รังเกียจเอ็นจีโอ ฯลฯ

เอ็นจีโออยู่ในหมวดขององค์กรเอกชน ซึ่งลักษณะขององค์กรเอกชนก็คือ เป็นองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่มีระเบียบวาระ การกำหนดทิศทางและนโยบายขององค์กรเพื่อมุ่งบริการสาธารณะประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งไม่ได้หมายถึงผู้ที่มาทำงานตรงนี้จะไม่ได้รับค่าตอบแทน เพียงแต่ค่าตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่องค์กรซึ่งจะมีนโยบายแตกต่างกันออกไป

จะเห็นได้ว่าความหมายของเอ็นจีโอนั้นค่อนข้างกว้างและครอบคลุมองค์กรเกือบทั้งหมดที่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะประโยชน์และงานพัฒนาในทุกๆ ด้านของสังคม มีการศึกษาที่ชื่อ The International Classification of Development NGOs จำแนกประเภทเอ็นจีโอเป็นกลุ่มต่างๆ ตามรูปแบบกิจกรรม อุดมการณ์และเป้าหมายขององค์กรไว้ คือ กลุ่มวัฒนธรรมและการฟื้นฟูที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม/กลุ่มที่ทำงานด้านการศึกษาและงานวิจัย/กลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพอนามัย/กลุ่มที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์/กลุ่มที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม/กลุ่มที่ทำงานด้านการพัฒนาและการเคหะ/กลุ่มที่ทำงานด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชนและการเมือง/กลุ่มที่ทำงานด้านการเชื่อมประสานและการส่งเสริมอาสาสมัคร เช่นองค์กรเครือข่าย องค์กรข้อมูลข่าวสาร/กลุ่มที่ทำงานด้านกิจกรรมระหว่างประเทศ/กลุ่มที่ทำงานด้านศาสนา/สมาคมต่างๆ เช่น สโมสรโรตารีหรือไลอ้อนส์ เป็นต้น

แต่ปัจจุบัน เอ็นจีโอ ยังหมายถึงใครก็ได้ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น อาจจะเป็นครู อบต. หรือมาจากสาขาอาชีพใดก็ได้ แต่มีความคิดในการทำงานเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม หรือบางทีมีม็อบเมื่อไรนั่นหมายถึงมีเอ็นจีโออยู่ที่นั่นแม้ว่าจะไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเอ็นจีโอนั้นเลยก็ตาม นิยามของเอ็นจีโอ จึงมิได้ชัดเจนเหมือนกลุ่มอาชีพอื่นๆ ในสังคม และขอบเขตความเป็น เอ็นจีโอก็มิได้จำกัดวงแคบอยู่เพียงหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง และยังสามารถมองได้หลายมุม ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน ใครเป็นคนมอง

สำหรับภายในแวดวงเอ็นจีโอกันเอง ก็อยู่ในภาวะสับสนตัวเองไม่น้อย มีการสรุปบทเรียนกันหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจของเอ็นจีโอในทศวรรษนี้จะไปกันอย่างไร จะเป็นมนุษย์กินเงินเดือนในลักษณะงานประจำ หรือเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมแต่ไส้แห้ง หรือว่าจะเป็นนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชนในคราบเอ็นจีโอ หรือจะเป็นขุนนางเอ็นจีโอเกาะงบประมาณและอำนาจรัฐเลี้ยงตัวเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เอ็นจีโอต่างตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับตัวเองอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จึงได้สรุปบทเรียนและเริ่มมีการแบ่งพื้นที่การทำงานของเอ็นจีโอออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่รูปธรรมหรือพื้นที่ชุมชนทางเลือกงานพัฒนา 2.พื้นที่ทางสังคม 3.พื้นที่ทางนโยบาย ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่นั้น มีความสำคัญและต่างต้องทำงานไปพร้อมๆ กัน ไม่อาจบ่งแยกพื้นที่เหล่านั้นออกจากกันได้ หรือมองมองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอย่างหยุดนิ่ง

อย่างไรก็ตาม การทำงานทั้ง 3 พื้นที่ของเอ็นจีโอนั้น กลุ่มคนที่มีความสำคัญอย่างมากคือ รุ่นใหม่หรือพันธุ์ใหม่ที่จำต้องมีความเข้าใจการทำงานทั้ง 3 พื้นที่ด้วย แต่ปัญหาใหญ่ยังเป็นเพราะเอ็นจีโอพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน มักจะประสบปัญหาเนื่องจากเข้ามาทำงานโดยมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และมักจะถูกมอบหมายหน้าที่ให้ทำงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเฉพาะทาง โอกาสที่จะเรียนรู้การทำงานทั้ง 3 พื้นที่มีน้อยลง เพราะเงื่อนไขขององค์กรที่เปลี่ยนไปมาก เช่น บางคนต้องทำงานตามโครงการ ไม่เหมือนกับเอ็นจีโอ รุ่นพี่ที่มีโอกาสลองผิดลองถูกมากกว่า โดยบางคนทำงานขลุกแต่อยู่ในชุมชน ไม่มีโอกาสเรียนรู้การทำงานเชิงนโยบาย บางคนก็นั่งอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชน หรือบางคนก็ทำแต่งานนโยบายก็ไม่เข้าใจการทำงานกับสังคมและงานชุมชน เป็นต้น

ประสบการณ์ของรุ่นพี่เอ็นจีโอ ที่ผ่านการทำงานอย่างหลากหลายพื้นที่ จึงจำเป็นที่เอ็นจีโอพันธุ์ใหม่ควรที่จะได้เรียนรู้ เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนเติบโตมาจากการทำงานหลากหลายรูปแบบ และมีโอกาสสร้างงาน ทดลองการทำงานหลากหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่ชุมชน พื้นที่ทางสังคมถึงพื้นที่นโยบาย จนมาสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีลีลาหลากหลายและมีบทเรียนที่น่าเรียนรู้ยิ่ง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่านิยามความหมายของเอ็นจีโอนั้นไม่มีความสำคัญมากเท่ากับการทำงานของเอ็นจีโอเองเลย เพราะต่อให้นิยามว่าดีเลิศแค่ไหนอย่างไร ถ้าเอ็นจีโอทำตัวแย่ก็คงไม่มีใครสรรเสริญหรือในทางตรงกันข้ามแม้ถูกคนนิยามว่าชั่วร้ายเพียงใดแต่ทำตัวตามอุดมการณ์ที่แท้จริงของตนก็ไม่มีใครทำให้เสื่อมลงได้ หรือต่อให้ไม่มีการนิยามความหมายของเอ็นจีโอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องถูกสรุปหรือถูกมองว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามทัศนคติและความเชื่อของผู้ที่จะนิยามความหมาย ดังนั้น การทำงานของเอ็นจีโอนั่นเองจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนที่แท้จริงได้ดีที่สุด