น้ำมันในมรสุม​

น้ำมันในมรสุม​

สำหรับผู้เขียนแล้ว หนึ่งในเครื่องชี้สำคัญที่จะสามารถบ่งชี้ถึงทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของโลก ได้แก่ ราคาน้ำมัน

เพราะหากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจสามารถบ่งชี้ได้ถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจ สะท้อนว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นจนธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่หากลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็อาจบ่งชี้ถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปที่จะชะลอลงได้

ดังนั้น ภาพของราคาน้ำมันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จึงน่าสนใจมากเพราะตกต่ำอย่างรุนแรง โดย ณ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อ่อนตัวลงถึง 43% จากจุดสูงสุดในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ 86 ดอลลาร์ และลดลงประมาณ 6% นับจากต้นปี

นักวิเคราะห์บางท่านจึงมีมุมมองว่าราคาน้ำมันอาจลดลงไปถึงจุดต่ำสุดในรอบทศวรรษ ที่ 25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่บางฝ่ายก็ยังคงเชื่อว่าราคาอาจกลับไประดับเดิมก่อนที่จะตกต่ำ (ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ได้หลังการประชุมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตรในเดือน ธ.ค. ที่มีข่าวว่าจะประกาศลดการผลิตถึงกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน คำถามคือ ราคาน้ำมันในปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร

สำหรับผู้เขียนแล้ว เชื่อว่าในปีหน้าราคาน้ำมัน (Brent) อาจจะเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่ได้สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปีนี้ที่ประมาณ 73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่าไรนัก โดยมีปัจจัยที่กำหนดราคาน้ำมัน 3 ประการด้วยกัน คือ

ปัจจัยแรก ได้แก่ ความต้องการซื้อ (Demand) ที่จะชะลอลงในปีหน้า โดยในปัจจุบันความต้องการซื้อและปริมาณการผลิตของน้ำมันอยู่ใกล้กันที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยมี 4 ผู้บริโภคยักษ์ใหญ่ได้แก่ สหรัฐ (20% ของ Demand โลก) ยุโรป (14%) จีน (13%) และอินเดีย (4%)

ทั้งนี้ เป็นไปได้สูงว่าในปีหน้า Demand จะขยายตัวชะลอลงจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown) ตามการคาดการณ์ของ IMF ทั้งสหรัฐ (ที่ GDP จะขยายตัวลดลงจาก 2.9% ในปีนี้เป็น 2.5% ในปีหน้า) ยูโรโซน (จาก 2.0% เป็น 1.9%) และจีน (จาก 6.6% เป็น 6.2%) จะมีก็แต่อินเดียที่จะยังขยายตัว (จาก 7.3% เป็น 7.4%) ภาพเหล่านั้นจะทำให้ Demand จาก 3 ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรปและจีน อาจขยายตัวลดลงถึง 40% ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความต้องการน้ำมันในปีหน้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าปีนี้ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่สองและสาม ได้แก่ ปริมาณการผลิต (Supply) ที่ตึงตัว และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น โดยในปัจจุบัน 3 ผู้ผลิตน้ำมันดิบหลักของโลกได้แก่ (1) สหรัฐ (15.4% ของกำลังการผลิตโลกที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ที่ผลิตเพิ่มขึ้นมากในระยะหลังเพราะความสามารถในการผลิต Shale Oil เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) (2) รัสเซีย (11.5%) และ (3) ซาอุดิอาราเบีย (10.2%) และหากรวมกลุ่ม OPEC แล้วจะอยู่ที่ประมาณ 32.5%

ประเด็น Supply เกี่ยวเนื่องกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มาก อันเป็นผลจาก 3 เหตุการณ์หลัก คือ (1) การร่วมมือของ OPEC และพันธมิตรที่นำโดยรัสเซีย (หรือที่เรียกว่า OPEC+) ที่เคยร่วมมือกันลดกำลังการผลิตได้ถึง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ปัจจุบันกลับมาผลิตเต็มกำลังอีกครั้งเพื่อให้ราคามีเสถียรภาพ (2) การที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรเศรษฐกิจอิหร่าน ซึ่งหากทำจริงโดยไม่มีข้อยกเว้นแล้ว จะทำให้ปริมาณการผลิตของอิหร่านหายไปถึงประมาณ 1.0-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ประธานาธิบดีทรัมพ์ก็ผ่อนผันให้กับ 8 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่จากอิหร่านเป็นการชั่วคราว (ทำให้ปริมาณการผลิตอิหร่านลดลงเพียง 2 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น) และ (3) รายงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ (CIA) ที่บ่งชี้ว่ามกุฎราชกุมารของซาอุดิอาราเบีย เป็นผู้บงการการสังหาร Jamal Khashoggi (JK) นักข่าววอชิงตันโพสต์

ประเด็นทั้ง 3 นี้ ซับซ้อนและส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันในระยะต่อไป โดยผู้เขียนเชื่อว่าทรัมป์ต้องการให้ราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับสูงพอสมควร เพื่อให้ผู้ผลิตสหรัฐที่สามารถผลิตได้มากขึ้นนั้นได้ประโยชน์ แต่หากราคาน้ำมันดิบแพงเกินไป ก็จะส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายในประเทศ ซึ่งจะกดดันทำให้ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและส่งผลเสียต่อผู้บริโภค

แต่ในฝั่งซาอุดิอาราเบียนั้น ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเพื่อทำให้มีรายได้เข้าประเทศเพียงพอและไม่ขาดดุลทางการคลัง ดังนั้น ราคาที่ตกลงในช่วงปัจจุบันทำให้ซาอุดิอาราเบียประกาศว่า จะร่วมมือกับกลุ่ม OPEC+ ลดกำลังการผลิตถึงกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมวันที่ 6 ธ.ค. นี้

ทั้งนี้ หาก OPEC+ สามารถลดกำลังการผลิตได้จริง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทรัมป์ เพราะจะทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐสามารถผลิตเพิ่มขึ้นทดแทนกำลังการผลิตของ OPEC+ ที่หายไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้โดยง่าย แต่กำลังส่งของท่อน้ำมันในสหรัฐที่จำกัด (โดยเฉพาะในภูมิภาค Permian) ทำให้สหรัฐไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ง่าย ดังนั้น ทรัมป์จึงใช้รายงานของ CIA เป็นเครื่องมือกดดันซาอุดิอาราเบีย ไม่ให้ลดกำลังการผลิต โดยหากลดการผลิต รัฐบาลสหรัฐก็จะประกาศคว่ำบาตรซาอุดิอาราเบีย โดยใช้ข้อกล่าวอ้างด้านความยุติธรรมในคดีการสังหาร JK เป็นเครื่องมือ

ดังนั้น ตลาดน้ำมันในปีหน้าจึงน่าจะค่อนข้างสมดุล กล่าวคือ Demand ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1-1.2 ล้านบาร์เรล บวกกับปริมาณการผลิตจากอิหร่านที่จะหายไปประมาณ 1.0-1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ผู้ผลิตต้องผลิตเพิ่มขึ้น 2.1-2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ผลิตซึ่งได้แก่ สหรัฐ และผู้ผลิตรายอื่นก็น่าจะสามารถผลิตเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เท่ากัน (สหรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0 ล้านบาร์เรล ผู้ผลิตรายอื่นผลิตเพิ่มขึ้น 0.1-0.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ OPEC+ ไม่น่าจะสามารถลดหรือเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ) ซึ่งจะทำให้ราคาอยู่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในระยะต่อไปมีทั้งความเสี่ยงขาขึ้นและขาลง โดยขาขึ้นได้แก่ ปริมาณการผลิตของ OPEC ที่อาจไม่สามารถ (และ/หรือ ไม่อยากที่จะ) เพิ่มขึ้นได้มากนัก โดยปัจจุบันกำลังการผลิตส่วนเกิน (Spare Capacity) ของกลุ่ม OPEC ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในแหล่งผลิตขนาดเล็กอื่น ๆ เช่น เวเนซุเอลา ลิเบีย ไนจีเรีย อาจทำให้การผลิตลดลง ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงในปีหน้า (โดยเฉพาะจีน) ก็จะส่งผลให้ความต้องการลดลงกว่าที่คาดไว้ และเป็นความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) ที่สำคัญของราคาน้ำมันเช่นกัน

ราคาน้ำมันมีความเสี่ยง นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย โปรดพึงระวัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]