เวลาในการทำงานที่หายไป

เวลาในการทำงานที่หายไป

ท่านผู้อ่านสังเกตไหมว่า ปัจจุบันเหมือนกับเราไม่เคยทำงานได้เสร็จภายในเวลาทำงานปกติ จะต้องทำงานนอกเวลา นำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน

 หรือ ช่วงวันหยุด และเคยสังเกตต่อไปไหมว่าเป็นเพราะปริมาณงานมากขึ้น หรือ เวลาในการทำงานที่น้อยลง? มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งออกมาชื่อ It doesn’t have to be crazy at work ที่เขียนโดยสองผู้ก่อตั้งบริษัท Basecamp ซึ่งเป็นบริษัทซอฟแวร์ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2003 และยังอยู่ดีมาจนถึงปัจจุบัน โดยหนังสือเล่มนี้ให้มุมมองและแนวคิดที่ต่างไปจากเดิมในการทำงาน โดยเฉพาะในด้านของเวลา ที่น่าคิดและน่าสนใจ

ชีวิตของคนทำงานในปัจจุบัน จะทำงานกันอย่างยาวนานขึ้น วันหยุดก็ต้องทำงาน หรือช่วงใดที่ว่างก็ต้องหยิบงานขึ้นมาทำ และที่สำคัญ คือจะมีค่านิยมที่จะยอมรับและชื่นชมต่อผู้ที่ทำงานอย่างไม่หยุดพัก ทำงานแล้วดูยุ่งตลอดเวลา รวมถึงพวกที่ทำงานจนขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ หนังสือเล่มนี้ระบุไว้เลยว่า ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอย่างต่อเนื่องไม่ใช่สิ่งที่น่าชื่นชม แต่เป็นสัญลักษณ์ของความโง่เขลา

ผู้เขียนระบุว่าต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการที่งานมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มาจากเวลาที่จะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกรบกวนนั้นหายไป คนทำงานในปัจจุบันจะทำงานกันมากขึ้น แต่งานที่ทำได้สำเร็จกลับลดน้อยลง เพราะเวลาที่หมดไปนั้นได้ใช้ไปกับสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่ามากขึ้น ลองนึกภาพการทำงานของท่านดูนะครับว่า ใน 1 วันการทำงาน ท่านใช้เวลาไปกับการทำงานจริงๆ อยู่กี่ชั่วโมง? ใช้เวลาไปกับการประชุมที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าเท่าไร? เสียเวลาไปกับสิ่งต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจ (เช่น ไลน์) มากน้อยเพียงใด? ดังนั้นคำตอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่จะต้องหาและใช้เวลาในการทำงานให้มากขึ้น แต่จะต้องลดสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดคุณค่าต่อการทำงานให้น้อยลง

เวลาในการทำงานมาตรฐานวันละ 8 ชั่วโมงนั้นถือว่าเพียงพอแล้วที่จะทำงานต่างๆ ให้สำเร็จ แต่สาเหตุที่ไม่ทำงานไม่เสร็จภายในเวลา 8 ชั่วโมง ก็เนื่องมาจากการรบกวนที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า ลองเปรียบเทียบดูว่าถ้าต้องนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศและใช้เวลาในการเดินทาง 8 ชั่วโมง จะมีความรู้สึกว่าเวลาเดินไปอย่างเชื่องช้ามาก แต่ถ้าเป็นการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงนั้น เผลอๆ ก็หมดวันไปแล้ว ทั้งๆ ที่เวลามีเท่ากัน สาเหตุหลักก็คือการเดินทางบนเครื่องบินนั้นไม่ถูกรบกวน เป็นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง ทำให้รู้สึกว่ายาวนาน แต่เวลาในการทำงานจริงๆ นั้นมักจะถูกหั่นออกเป็นส่วนๆ ทำให้การทำงานจริงๆ ไม่ถึง 8 ชั่วโมง อย่างเก่งสุดก็เพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง ที่เหลือก็จะถูกหั่นและแย่งชิงไปโดยการรบกวนต่างๆ หนังสือเล่มนี้เลยแนะนำว่า ถ้าไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันอย่างยาวนานได้ ก็จะต้องเลือกว่าจะไม่ทำอะไร หลายสิ่งที่คิดว่าจะต้องทำนั้น จริงๆ แล้วอาจจะไม่ต้องทำก็ได้

อีกสาเหตุหนึ่งที่เวลาในการทำงานมักจะไม่สามารถเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก็เพราะปรากฎการณ์ FOMO หรือ Fear of missing out นั้นเอง แปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือกลัวพลาดหรือตกข่าวที่สำคัญ วันๆ หนึ่งเราใช้เวลาไปกับโลกสื่อสังคมออนไลน์มากเพียงใด สาเหตุหนึ่งก็เพราะกลัวตกข่าว ตกกระแส ดังนั้นแทนที่จะมีอาการ FOMO ควรจะเปลี่ยน JOMO หรือ Joy of missing out แทน นั้นคือ การตกข่าวหรือพลาดกระแสฮิตติดเทรนด์ ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดี ทุกๆ คนไม่จำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแลกมากับเวลาในการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนานขึ้น และสามารถทำให้งานสำเร็จภายใน 8 ชั่วโมงที่มีได้

ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจคือ องค์กรต่างๆ ควรจะหันมาให้ความสำคัญต่อการปกป้องเวลาของพนักงานให้มากขึ้น องค์กรชอบที่จะปกป้องในเรื่องต่างๆ ทั้งแบรนด์ เครื่องหมายการค้า ข้อมูล ฯลฯ แต่เวลาในการทำงานที่มีคุณค่าของพนักงานกลับมักไม่ได้รับความสนใจในการปกป้องเท่าใด ซึ่งทำได้ด้วยหลายๆ วิธี อาทิเช่น การประชุมที่มีคนพูดอยู่คนเดียวก็ควรจะลดลง เพราะมีช่องทางอื่นๆ ในการสื่อสารได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น

ลองพิจารณาดูนะครับว่าท่านผู้อ่านจะหาทางทวงเวลาที่หายไปกลับมาได้อย่างไร