ต่อสู้กับความหิวโหยกัน

ต่อสู้กับความหิวโหยกัน

หนึ่งในสามของอาหารทั่วโลกกลายเป็นขยะหรือทิ้งไปโดยไม่ถูกบริโภค

องค์การสหประชาชาติตั้งเป้าแก้ไขปัญหาความอดอยากหิวโหยให้หมดสิ้น (Zero Hunger) ภายในปี 2030 ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่สหประชาชาติตั้งไว้

ความอดอยากหิวโหยในที่นี้ครอบคลุมทั้งมิติปริมาณ คุณภาพ ความปลอดภัย ตลอดจนเสถียรภาพหรือความมั่นคงในระยะยาวที่จะเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ สถานการณ์ความหิวโหยของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนประชากรที่อยู่ในภาวะหิวโหยโดยมีสัดส่วนลดลงจาก 14.7% ต่อประชากรโลกในปี 2000 เหลือ 10.9% ในปี 2017

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังคงมีประชากรโลกราว 800 ล้านคนที่อยู่ในภาวะหิวโหย หรือพูดง่ายๆ ว่าประชากรโลกทุก 9 คน มีผู้หิวโหย 1 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยสองในสามอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ในจำนวนนี้ 60% เป็นผู้หญิง นอกจากนี้ 80% ของผู้ที่เข้าข่ายยากจนมากอาศัยอยู่ในชนบทและพึ่งพาภาคเกษตรกรรม

ปัจจุบันความหิวโหยทำให้ผู้คนเสียชีวิตมากกว่าโรคมาลาเรีย วัณโรค หรือ เอดส์เสียอีก กว่าครึ่งของประชากรวัยทารกที่เสียชีวิตหรือประมาณ 3.1 ล้านคนมาจากปัญหาขาดสารอาหาร ปัญหาทุพโภชนาการหรือได้รับสารอาหารไม่เพียงพอสร้างความสูญเสียทางทางเศรษฐกิจถึงปีละ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ความจริงข้อนี้ทำให้เศร้าใจมากขึ้นไปอีก เมื่อพบว่า แต่ละวัน หนึ่งในสามของอาหารทั่วโลกกลายเป็นขยะหรือทิ้งไปโดยไม่ถูกบริโภค

ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตสินค้าเกษตรได้จำนวนมาก มีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ตลอดจนเหลือพอส่งขายไปต่างประเทศ ในทางตรงข้าม มีประเทศจำนวนมากในปัจจุบันที่ประชากรยังขาดแคลนอาหาร เช่น ในทวีปแอฟริกา มีคนอดอยากถึง 256 ล้านคน หรือกว่า 21% ของประชากรทั้งหมด

อย่างไรก็ตามสำหรับไทย ความกังวลไม่ใช่เรื่องปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพ ประชากรบางกลุ่มไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ได้รับโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรวัยเด็ก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (ปี 2558-2559) พบว่า เด็กไทยมีภาวะเตี้ยร้อยละ 10.5 ผอมร้อยละ 5.4 เกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า ต้องมีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 10 และผอมไม่เกินร้อยละ 5

ปัญหาโภชนาการในเด็กไทยควรได้รับการใส่ใจ เพราะเป็นจุดตั้งต้นของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในระยะยาว ข้อเสนอเพื่อส่งเสริมโภชนาการในเด็กมีหลายเรื่อง เช่น ปรับปรุงโภชนาการของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะในช่วงหกเดือนแรก ให้อาหารเสริมที่มีคุณภาพ เช่น ให้ยาเม็ดเสริมไอโอดีนแก่แม่ระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งนี้พบว่าถ้าระหว่างตั้งครรภ์ แม่ขาดไอโอดีน มีความเสี่ยงที่ลูกในท้องเจริญเติบโตน้อย เด็กคลอดออกมาเตี้ยแคระแกร็น โลหิตจาง สมองพัฒนาไม่เต็มที่ สติปัญญาต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีอาการที่เรียกว่าโรคเอ๋อได้

การบริหารจัดการด้านโภชนาการของแม่ที่ตั้งครรภ์และของเด็กวัยแรกเกิดจนถึงห้าขวบแรกอย่างมีคุณภาพ ช่วยสร้างพัฒนาการของเด็กด้านต่างๆ ให้ดีไปด้วย ลดโอกาสการเจ็บป่วย ลดโอกาสเกิดโรคเรื้อรังเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กล่าวได้ว่าการจัดการด้านโภชนาการที่ดีในประชากรของแม่ที่ตั้งครรภ์และในวัยเด็กเป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ และช่วยลดต้นทุนด้านสาธารณสุขให้แก่รัฐบาลในระยะยาว

องค์การสหประชาชาติคาดว่า เพื่อแก้ปัญหาความหิวโหยให้ได้ตามที่ตั้งเป้า ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 0.3% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติทั่วโลก

มีงานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า ต้นทุนที่ประชาชนขาดสารอาหารหรือเข้าไม่ถึงโภชนาการที่ดีนั้นสูงมาก การลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพด้านโภชนาการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ งานวิจัยพบว่าประโยชน์ที่ได้ต่อต้นทุนที่ใช้ อยู่ที่อัตราส่วน 13 ต่อ 1 โดยประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ได้แก่ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เสียชีวิตน้อยลง ทั้งยังหารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้เพิ่มมากขึ้น

การมุ่งขจัดความหิวโหยและส่งเสริมประชาชนให้เข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย มีประโยชน์ ตลอดจนมีความรู้ด้านโภชนาการในการดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงโภชนาการที่เพียงพอและมีคุณภาพส่งผลต่อการพัฒนาตัวประชาชนเอง ตลอดจนเป็นภาระครอบครัว สังคม และประเทศชาติในอนาคต