ผลกระทบระยะยาวของ “Share buybacks”

ผลกระทบระยะยาวของ “Share buybacks”

ถ้าพูดถึงการลงทุนในหุ้น นักลงทุนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับการที่ได้ผลกำไรหลักๆ

จาก 1. กำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย (Capital gain) และ 2. เงินปันผล กลยุทธ์ดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นเพื่อกินส่วนต่างเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การซื้อหุ้นคืน หรือ “Share buybacks” หากย้อนไปช่วงปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะเห็นพาดข่าวถึงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่ไม่น้อย แม้ปรมาจารย์การลงทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็มีแผนซื้อคืนหุ้น Berkshire Hathaway คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นักลงทุนอาจข้องใจว่าทำไมการซื้อหุ้นคืนเป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการซื้อหุ้นคืนคือ การที่บริษัทใช้เงินสดที่เหลือจากทำธุรกิจเป็นจำนวนมากเข้าซื้อหุ้นของตัวเองในตลาด คล้ายๆ กับจ่ายเงินให้ผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นเลือกได้ว่าจะขายหุ้นคืนหรือถือต่อ หากเลือกถือหุ้นต่อ ผู้ถือหุ้นจะมีความเป็นเจ้าของบริษัทในสัดส่วนสูงกว่าช่วงก่อนหน้า เพราะจำนวนหุ้นรวมของบริษัทลดลงจากการซื้อหุ้นคืน แต่การถือครองของบุคคลไม่ลดลง (เพราะนักลงทุนเลือกไม่ขาย)

ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในบริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืน มีดังนี้

“Share buybacks” เป็นที่รู้จักในช่วงทศวรรษที่ 1980 จากการผ่อนคลายกฎหมายของสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ ทุกวันนี้ Share buybacks มีบทบาทในตลาดทุนมากกว่าเงินปันผลอย่างมีนัยสำคัญ เพียง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทในสหรัฐฯ ซื้อหุ้นคืนมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และใช้งบเพียง 1 แสนล้านดอลลาร์ในการจ่ายปันผล งานวิจัยจาก Goldman Sachs เปิดเผยว่ามูลค่าอาจพุ่งกระฉูดถึง 7.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับปีนี้ นับว่าสูงขึ้นถึง 44% จากปี 2017

การกระจายเงินให้ผู้ถือหุ้นวันนี้อาจทำให้การขยายกิจการในวันหน้าลดลง ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงความไม่มั่นคงของบริษัทก็เป็นได้ เจ้าของธุรกิจสามารถเลือกรักษาเงินหรือลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีขึ้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้นๆ หรือเป็นไปได้ว่ากำไรสะสมอาจไม่พอในการขยายกิจการ แต่จากการอ้างอิงสถิติในเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทส่วนมากมีอัตราการจ่ายผ่านการซื้อหุ้นคืนและการจ่ายปันผลเกือบ 100% เทียบกับเดือนมิถุนายน 2009 ที่อยู่เพียง 60% สวนทางกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในทศวรรษ รวมถึงแรงจูงใจด้านภาษีที่น่าดึงดูดให้ลงทุน อาจตีความได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่มีมุมมองเชิงบวกต่อการขยายกิจการในระยะยาว

ต้นทุนการกู้ยืมในปัจจุบันถูกมากเมื่อเทียบกับอดีต จึงไม่แปลกที่บริษัทจะกู้เพิ่มเพื่อซื้อหุ้นคืน แต่ สหรัฐฯ กำลังเข้าสู่วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเต็มตัว นักลงทุนควรจับตาต้นทุนที่ทยอยสูงขึ้นจะฉุดแผนการเข้าซื้อหุ้นคืนหรือไม่

บาดแผลจากวิกฤติปี 2008 ยังไม่หายดี นักลงทุนสถาบันหลายราย เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ ลดการลงทุนในหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง หันไปสนใจตราสารหนี้และสินทรัพย์ทางเลือกแทน สะท้อนว่าเมล็ดเงินที่ผลักดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ใน 10 ปีที่ผ่านมา มาจากบริษัทเป็นส่วนใหญ่ และถ้าวันหนึ่งการลงทุนในตลาดหุ้นจากบริษัทเหล่านี้ชะงักลงจากการแบกรับภาระหนี้ที่สูงขึ้น…คงจะยากที่จะมีใครมาช่วยพยุงตลาดได้อีก

อีกประเด็นสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องการสนับสนุนตัวเลขทางบัญชีให้ดูดี ผ่านการสร้างกำไรต่อหุ้นหรือ Earnings per share (EPS) ได้สูงเกินกว่าความเป็นจริง แม้จะไม่มีการเติบโตของรายได้ก็ตาม ตัวอย่างเช่น เดิมบริษัทมี 5 หุ้น และมีกำไร 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปีนี้สมมติว่ารายได้เท่าเดิม แต่บริษัทซื้อหุ้นคืนจำนวน 1 หุ้น ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่า EPS per share ก้าวกระโดดถึง 25% เป็นวิธีทำตัวเลขให้ดูดี บริษัทจดทะเบียนใน S&P 500 ประมาณ 70% ลดจำนวนหุ้นในไตรมาส 3 ปี 2017 ทำให้ EPS per share ที่รายงานพุ่งขึ้นถึง 20%

นักลงทุนควรพิจารณาหลายองค์ประกอบ ทั้งข้อดีในระยะสั้นและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการศึกษาข้องมูลบริษัทอย่างถี่ถ้วนเพื่อลดความผิดพลาดในการลงทุน