กฎหมายอวกาศสำคัญอย่างไร

กฎหมายอวกาศสำคัญอย่างไร

เมื่อกล่าวถึง “กฎหมายอวกาศ” ผู้อ่านหลายท่านคงเกิดความประหลาดใจและนึกสงสัยว่า กฎหมายซึ่งโดยธรรมดาแล้วเป็นเครื่องมือ

กฎหมายซึ่งโดยธรรมดาแล้วเป็นเครื่องมือในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับพื้นที่เวิ้งว้างปราศจากขอบเขตและมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้นั้นอย่างไร และเหตุใดจึงต้องมีกฎหมายเช่นว่านั้น

การที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้ เราจำเป็นต้องทำความรู้จักกับความหมายในทางวิทยาศาสตร์ของ อวกาศ และลักษณะการใช้ประโยชน์ในอวกาศเสียก่อน เพื่อประกอบความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“อวกาศ” หมายถึงบริเวณที่อยู่ไกลออกไปจากโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่เหนือชั้นบรรยากาศรอบโลก ซึ่งมีขอบเขตกว้างไกลออกไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นที่อยู่ของดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ ประกอบไปด้วยสุญญากาศที่ประกอบด้วยอนุภาคความหนาแน่นต่ำซึ่งมีพลาสมาของไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก

ในยุคแรกเริ่ม มนุษย์ให้ความสนใจห้วงอวกาศในด้านการสำรวจในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการค้นคว้าวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์เป็นหลัก ต่อมามนุษย์เริ่มขยายความสนใจไปทางด้านยุทธศาสตร์และทางการทหาร โดยใช้ประโยชน์จากอวกาศไปในทางตรวจการณ์และสอดแนมต่างๆ จนกระทั่งในปัจจุบันซึ่งมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เกี่ยวกับอวกาศมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่นทางด้านโทรคมนาคม (Telecommunications) ทางด้านสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) การระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System : GPS) เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกันภัยพิบัติ การติดต่อสื่อสาร และการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรบนดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งการขยายตัวของรูปแบบการใช้ประโยชน์ในอวกาศของมนุษย์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมาก ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา รวมทั้งในด้านกฎหมายอีกด้วย

ในมิติทางกฎหมาย คงต้องกล่าวถึงสนธิสัญญาว่าด้วยหลักการที่ใช้บังคับต่อกิจกรรมในเรื่องการสำรวจและใช้อวกาศ ค.ศ. 1967 (Treaty on Principles Governing the Activities of States in the Exploration and Use of Outer Space, including the Moon and Other Celestial Bodies) (ต่อไปนี้จะเรียกว่า อนุสัญญาอวกาศ 1967”) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมลงนามด้วย เนื่องจากเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดซึ่งวางหลักสาระสำคัญให้กับกฎหมายอื่นๆ ที่ตามมา สนธิสัญญาดังกล่าวได้ให้ความหมายของ “อวกาศ” ว่าหมายถึง ห้วงเวหาที่อยู่เหนือและถัดขึ้นไปจากชั้นบรรยากาศ โดยถือเอาบรรยากาศของโลกมนุษย์เป็นเกณฑ์ และกำหนดแต่เพียงว่าอวกาศเริ่มต้นขึ้นจากระดับใด แต่มิได้จำกัดขอบเขตว่ามีความกว้างใหญ่ไพศาลไปจนสิ้นสุด ณ จุดใด และยังรวมถึงวัตถุทั้งหลายบนท้องฟ้า (วัตถุในอวกาศ) ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใดอีกด้วย

กฎหมายระหว่างประเทศยังได้วางหลักการว่า ห้วงอวกาศไม่อาจถูกยึดครอง หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใดๆ ได้ เพื่อให้รัฐทั้งหลายได้มีเสรีภาพในการสำรวจและใช้อวกาศบนพื้นฐานแห่งการเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของนานาชาติขึ้น เพื่อใช้บังคับกิจกรรมต่าง ๆ ในอวกาศ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งในอวกาศได้ เนื่องจากกิจกรรมอวกาศนั้นอาจเป็นภัย และก่อความเสียหายให้แก่รัฐอื่นได้ อย่างไรก็ตาม การที่เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันก็ได้ส่งผลให้การปรับใช้หลักกฎหมายดังกล่าวประสบปัญหาอยู่เป็นนิจ

สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ อันได้แก่ อนุสัญญาอวกาศ 1967 และได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการอวกาศส่วนนอกในทางสันติของสหประชาชาติ (UN Committee On Peaceful Uses of Outer Space: COPUOS( และเป็นส่วนหนึ่งขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศในเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Space Cooperation Organization: APSCO( ตลอดจนศูนย์ฝึกอบรมและการศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศในเอเชียแปซิฟิกของสหประชาชาติ (UN Center for Space Technology Training and Education in Asia and Pacific: CSTTEAP) แต่ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้มีกฎหมายหรือแผนแม่บทที่เกี่ยวกับกฎหมายอวกาศหรือกิจการดาวเทียมเลย ทั้งๆ ที่ไทยก็ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดาวเทียมในหลายๆ เรื่อง เช่น ดาวเทียมไทยคมเพื่อการสื่อสาร ดาวเทียมขนาดเล็กไทยพัฒนา ตลอดจนดาวเทียมเพื่อการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

เมื่อการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมประเภทต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นกิจกรรมอวกาศแห่งชาติตามความหมายของอนุสัญญาอวกาศ 1967 ข้อ 6 ที่กำหนดให้รัฐจะต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งการรับผิดชอบดังกล่าวนำไปสู่การบังคับให้รัฐต้องมีหน้าที่อนุญาต ควบคุม และกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องของกิจการอวกาศไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะกระทำโดยหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน นั่นหมายความว่า เอกชนต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนไว้ว่าจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแต่ละรัฐภาคีที่จะกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ในกฎหมายภายในของตน

อีกทั้งข้อ 7 ก็ได้กำหนดให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบในทางระหว่างประเทศสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่ากิจการอวกาศนั้นจะดำเนินการโดยองค์กรของรัฐหรือเอกชนก็ตาม

แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยจะส่งดาวเทียมหลายดวงขึ้นไปโคจรในอวกาศและอาจมีโครงการอื่นๆ ตามมาอีกในอนาคต แต่ในขณะนี้ไทยก็ยังไม่มีบทกฎหมายใดมารองรับ จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า สมควรหรือไม่หากไทยจะได้มีการจัดทำนโยบายที่จะใช้ในการส่งเสริมและพัฒนากิจการอวกาศ รวมทั้งมีกฎหมายแม่บทในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำกับดูแล การอนุญาต เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทางระหว่างประเทศต่อไปในอนาคตได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์