เศรษฐกิจสูงวัย

เศรษฐกิจสูงวัย

ปัญหาไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการหางานทำหลังเกษียณ

สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเสมอเมื่อเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นคือ บทบาทของผู้สูงอายุในสังคมการทำงานที่นั่น เพราะอย่าลืมว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอายุขัยโดยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก และโครงสร้างประชากรก็เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มที่แล้วด้วย

การทำงานในหลายๆ ตำแหน่งหน้าที่จึงเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่เกษียณอายุจากงานประจำแล้วยังคงทำงานหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ ซึ่งเราจะเห็นผู้สูงอายุเหล่านี้ในงานหลายๆ อย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะทางเช่นการเป็นเจ้าหน้าที่ประจำด่านเก็บเงินทางด่วน

ตลอดระยะทางจากสนามบินเข้าสู่เมืองโตเกียวผมจึงเห็นพนักงานประจำด่านเก็บเงินทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสเห็นอยู่ทุกด่าน ตรงกันข้ามกับบ้านเราที่ใช้คนหนุ่มสาวที่ผมเสียดายเพราะคนกลุ่มนี้มีอายุยังน้อยน่าจะไปทำงานอื่นที่ซับซ้อนกว่านี้เพื่อสร้างทักษะการทำงานใหม่ๆ รองรับการเติบโตในอนาคต

งานง่ายๆ เหล่านี้อาจดูไม่น่าสนใจสำหรับคนหนุ่มสาวแต่สำหรับผู้สูงอายุถือเป็นโอกาสที่ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าและยังมีรายได้มาใช้สอยต่อไปได้ด้วย ซึ่งงานอื่นในญี่ปุ่นผมพบว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อาจไม่ต้องถึงวัยเกษียณแต่ก็เป็นคนในวัย 40-50 ปีที่เราจะพบคนวัยนี้มาเป็นพนักงานเสิรฟ์ในภัตตาคารต่าง ๆ

แล้วคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นไปอยู่ที่ไหนกันหมด? คำตอบคือสำนักงานทันสมัยต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะการทำงานยุคใหม่ เราจะเห็นคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญ การประชุมและเจรจาธุรกิจจึงมีแต่คนหนุ่มสาว เช่นเดียวกับในสำนักงานหากมองเข้าไปก็จะเห็นภาพเดียวกัน

ปัญหาผู้สูงวัยในญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการหางานทำหลังเกษียณ แต่ยังลามไปถึงระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ญี่ปุ่นอยู่ในวงเวียนที่ไปไหนไม่ได้มานับสิบปี เพราะประชากรญี่ปุ่นนั้นมีเงินฝากอยู่ในระบบธนาคารสูงถึงกว่า 200 ล้านล้านบาท

อัตราการออมของญี่ปุ่นจึงติดอันดับต้นๆ ของโลกเพราะประชาชนรู้สึกอุ่นใจกว่าหากมีเงินเก็บไว้ในธนาคาร เผื่อจำเป็นต้องใช้รักษาตัวเองในอนาคต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นเลยเพราะสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์ดี

ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงไม่สามารถเดินหน้าได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเงินไม่ถูกนำไปหมุนเวียนในระบบ และเงินที่อยู่ในระบบราวๆ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามากเท่างบประมาณประเทศไทยนั้นมีเจ้าของบัญชีเป็นผู้ที่ทำธุรกรรมไม่ได้เช่นเป็นโรคสมองเสื่อม หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากความชราภาพจนไม่อาจถอนเงินมาใช้ได้จำนวน 4.7 ล้านคน

ที่น่ากลัวคือจำนวนเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้จะทวีเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะเจ้าของบัญชีจำนวน 7.8 ล้านคนจะต้องประสบภาวะเช่นเดียวกัน ซึ่งเงินจำนวนนี้เท่ากับ 20% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหายังไม่จบอยู่เพียงแค่นั้น เพราะมีการประเมินกันไว้ว่าจำนวนประชากรญี่ปุ่นในปัจจุบันที่มี 120 ล้านคนนั้นในอีก 30 ปีข้างหน้าจะหดตัวลงเหลือเพียง 80 ล้านคนใกล้เคียงประเทศไทยในเวลานี้ โดยประชากรที่หายไป 40 ล้านคนเกิดจากอัตราการเกิดไม่สมดุลกับอัตราการตาย

สิ่งเหล่านี้หากมองในด้านลบเราก็อาจรู้สึกหดหูและสับสนว่าควรจะเตรียมรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร แต่หากมองในแง่บวกก็จะเห็นโอกาสอยู่เต็มไปหมด โดยเฉพาะการปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริการ หรือเทคโนโลยีก็ล้วนยกระดับให้ผู้สูงอายุมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ที่สำคัญแนวโน้มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะญี่ปุ่น แต่สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็ล้วนต้องประสบกับปัญหาเดียวกัน การปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะดังกล่าวจึงเป็นโอกาสที่เราจะใช้เป็นโอกาสได้ต่อไปในอนาคต